จากอดีตมาถึงวันนี้ สมุนไพรยังคงอยู่คู่ไทยดังเดิม แต่ด้วยวิวัฒนาการที่ย่อมมีการเปลี่ยนแปลง สมุนไพรในการนำมาใช้ได้ถูกแปรรูปสารพัด อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงแค่ไหน ในการนำมาใช้สำคัญที่สุด คือ การปรุงยา ยังต้องมีอยู่ ซึ่งหากขาดขั้นตอนนี้ ตัวยาในสมุนไพรคงไม่สามารถถูกสกัดออกมาใช้ประโยชน์ได้
การปรุงยานั้นก็เพื่อสกัดเอาตัวยาออกมาจากสมุนไพร โดยตัวยานี้เองที่มีสรรพคุณรักษาโรคต่างๆ ได้ การใช้สมุนไพรรักษาโรค ล้วนแล้วต้องเริ่มจากกรรมวิธีของการปรุงยา เพื่อให้ได้ตัวยาก่อนแทบทั้งสิ้น สำหรับสิ่งที่สามารถนำมาสกัดตัวยานั้น เป็นสิ่งที่เราทุกคนคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ได้แก่ น้ำ โดยการต้ม และชง, น้ำมัน จะใช้แช่ หรือเคี่ยว อีกอย่างหนึ่งที่ใช้ก็จะเป็นเหล้า ใช้วิธีการดอง
มาเริ่มกันที่ ยาต้ม เป็นการสกัดตัวยาออกจากไม้ยาด้วยน้ำร้อน จะใช้ต้มกับส่วนของต้นไม้ที่เนื้อแน่นแข็ง เช่น ลำต้นของแก่นฝาง สรรพคุณบำรุงโลหิต ,ชะเอมไทย ใช้ขับเสมหะ ฯลฯ ซึ่งวิธีการต้มยานั้นเป็นที่นิยมมาก มีข้อดี คือ สะอาด ปลอดภัยจากเชื้อโรค มีด้วยกัน ๓ ลักษณะ
ต้มกินต่างน้ำ เป็นการต้มยาให้เดือด และต้มด้วยไฟอ่อนอีก ๑๐ นาที จากนั้นกินยานี้แทนน้ำไปเลย
ต้มเคี่ยว ต้มให้เดือดด้วยไฟอ่อนๆ ไปอีกประมาณ ๒๐-๓๐ นาที
ต้มสามเอาหนึ่ง โดยการต้มจากน้ำ ๓ ส่วน เหลือเพียง ๑ ส่วน ใช้เวลาต้มประมาณ ๓๐-๔๕ นาที
ยาชง เป็นการสกัดตัวยาด้วยน้ำร้อนเช่นกัน ใช้กับส่วนของต้นไม้ที่บอบบาง อ่อนนุ่ม อาทิ ใบชุมเห็ดเทศ, ดอกคำฝอย, มะขามแขก เป็นต้น วิธีการโดยเอายาใส่แก้ว เติมน้ำร้อนจัดลงไป ปิดฝา ปล่อยไว้จนเย็น เพื่อให้ตัวยาออกมาเต็มที่ ข้อดีของยาชงดีกว่ายาต้มตรงที่ตัวยาไม่สามารถระเหยออกไปได้ เพราะถูกฝาปิดไว้
ยาน้ำมัน ใช้น้ำมันเป็นตัวสกัดยาแทนน้ำ มีตัวยาบางชนิดละลายได้ดีในน้ำมัน (ส่วนใหญ่ยาที่ละลายน้ำได้ดี จะไม่ละลายในน้ำมันเช่นกัน) สมุนไพรที่เหมาะสมใช้น้ำมันสกัดตัวยา เช่น ไพล แต่วิธีนี้ไม่นิยมปรุงใช้กัน เพราะน้ำมันใช้แล้วเหนียวเหนอะหนะ บ้างก็เปรอะเปื้อนเสื้อผ้า
ยาดองเหล้า ใช้เหล้าสกัดตัวยาที่ไม่ละลายน้ำ หรือไม่ละลายในน้ำมัน แต่กลับละลายในเหล้าได้ ดี ข้อควรระวัง คือ ยาดองเหล้ามักมีฤทธิ์แรงกว่ายาต้ม และเหล้ามีกลิ่นฉุน แพง นอกจากนี้หากกินบ่อยๆ ทำให้ติดได้ จึงไม่นิยมเช่นกัน นอกเสียจากว่ากรณีกินยาเม็ดก็แล้ว ยาต้มก็แล้ว ยังไม่ได้ผล สมุนไพรที่จะสกัดตัวยาด้วยการดองเหล้า เช่น ขี้เหล็ก หรือฟ้าทะลายโจร ซึ่งขนาดการกินมักจะอยู่ในรูปช้อนชา กินครั้งละไม่มาก เพราะตัวยาเข้มข้น ส่วนยาดองที่ใช้เป็นยาทาภายนอกก็มี อาทิ ข่า ผสมเหล้าใช้ทารักษาโรคผิวหนังจาเชื้อรา เช่น กลาก เกลื้อน, ทองพันชั่ง แช่เหล้าแก้กลากเกลื้อนได้เช่นกัน
ยาตำคั้นเอาน้ำ เอายามาตำจนละเอียด มักใช้กับส่วนของต้นไม้ที่มีน้ำมากๆ อ่อนนุ่ม ตำแหลกง่าย เช่น ใบ หัว เหง้า ข้อควรระวังสำหรับยาประเภทนี้ คือ กลิ่นและรสรุนแรง ตัวยาเข้มข้นมาก การกินให้กินครั้งละ ๑ ถ้วยชา ก็เกินพอแล้ว
ยาผง โดยเอายาไปอบ หรือตากแห้ง จากนั้นบดเป็นผงให้ละเอียดที่สุด เพื่อให้ได้สรรพคุณดีขึ้น เพราะยาผงนั้นสามารถดูดซึมเข้าลำไส้ได้ง่าย ตัวยาจึงเข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ส่วนยาผงใดที่กินยากให้ใช้การปั้นเป็นเม็ด หรือที่เรียกกันว่า ลูกกลอน โดยใช้น้ำเชื่อม น้ำผึ้ง หรือน้ำข้าว เพื่อให้ยาติดกันเป็นเม็ดไม่แตกร่วน แต่นิยมใช้น้ำผึ้งทำยาลูกกลอน เพราะสามารถเก็บได้นานโดยไม่ขึ้นรา การทำยาปั้นเม็ด(ลูกกลอน) ใช้ยาผสมน้ำผึ้ง ๒ : ๑ ส่วน ผสมจนเข้ากันดี ตั้งทิ้งไว้ประมาณ ๑ ชั่วโมง เพื่อให้ยาดูดซึมน้ำผึ้งเต็มที่แล้วค่อยจัดการปั้น สมุนไพรที่จะใช้วิธีนี้ปั้นแบบนี้ เช่น เช่น ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร ฯลฯ
ยาฝน เป็นวิธีที่หมอยาพื้นบ้านนิยมใช้มาก วิธีฝน นำภาชนะใส่น้ำประมาณครึ่งหนึ่ง เอาหินลับมีดเล็กๆ จุ่มลงไป ให้หินโผล่เหนือน้ำขึ้นมาเล็กน้อยแล้วฝนจนได้น้ำยาสีขุ่นขึ้น ให้กินครั้งละ ๑ แก้ว
ระยะเวลาในการรักษาโรคแต่ละโรคนั้นมีความแตกต่างกัน แล้วแต่โรค แต่ละชนิด อย่างโรคที่เรียกว่า โรคพึ่งเป็น เช่น เป็นไข้ เจ็บคอ ท้องเสีย ฯลฯ หลังกินยาอาการควรดีขึ้นภายใน ๑ วัน
ส่วนโรคที่เป็นมานาน เช่น หืด หอบ ริดสีดวงทวาร อาการควรดีขึ้นหลังจากกินยาไปได้ ๑ เดือน ถ้าไม่ดีขึ้นภายในเวลาที่กำหนดให้เปลี่ยนยา
สมุนไพรที่ใช้รักษาโรคได้ดีควรเป็นยาสด จะทำให้ร่างกายรับตัวยาครบ แต่หากต้องกินยาติดต่อกันเป็นเดือน เป็นปี ใช้ยาแห้งจะดีกว่า เพราะพิษที่เกิดจากยาแห้งจะน้อยกว่ายาสด
ยุคเศรษฐกิจบีบรัดเช่นที่เป็นอยู่ขณะนี้ สมุนไพรดูจะตอบสนองสิ่งสำคัญของการดำรงชีวิตมนุษย์ ในข้อยารักษาโรคได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าชาวบ้าน หรือชาวเมือง สามารถหาได้ง่าย ราคาไม่แพง ยิ่งใครไม่อยากซื้อก็ปลูกไว้ใช้เองได้ในบ้าน ประหยัดเงินในกระเป๋าได้มากอยู่ ที่สำคัญประสิทธิภาพในการรักษาโรคของเจ้าสมุนไพรนั้นได้ผลดีเสียด้วยซิ งานนี้เรียกว่าถูกใจคนใช้ไม่พอ แถมยังถูกตังค์เข้าไปอีกด้วย.