ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์
ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber cassumunar Roxb.
ชื่อวงศ์ Zingiberaceae
ชื่อพ้อง Zingiber cassumunar Roxb. Zingiber purpureum Roscoe
- ชื่อท้องถิ่นปูลอย, ปูเลย, มิ้นสะล่าง, ว่านไฟ
หลักฐานทางวิทยาศาสตร์
1. ฤทธิ์ลดการอักเสบ
การศึกษาทางด้านเภสัชวิทยาของน้ำมันไพลทางด้านลดอาการอักเสบ พบว่าเฉพาะน้ำมันสกัดดิบเท่านั้นที่ให้ผลลดอาการบวมอุ้งเท้าหนู ส่วนสกัดย่อยอื่นๆ ไม่ได้ผล การศึกษาเบื้องต้นทางคลินิกพบว่าให้ผลในการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อและเคล็ดต่างๆเช่นกัน (1) มีรายงานฤทธิ์ลดการอักเสบของสารสกัดไพลด้วยเฮกเซน (2) รวมถึงสารที่สกัดได้จากไพลหลายชนิด เช่น เคอร์คิวมิน ซึ่งเป็นสารสีเหลือง (3-9), น้ำมันหอมระเหย (10-11),และสารอื่นๆ เช่น สาร (E)-4 (3',4'-dimethylphenyl) but-3-en-l-ol ออกฤทธิ์ยับยั้ง prostaglandin (12) นอกจากนี้สาร (E)-1-(3,4-dimethoxyphenyl) but-3-en-2-ol ขนาด 2.5 มล./กก เมื่อป้อนเข้าสู่กระเพาะของหนูขาว พบว่าสามารถยับยั้งการอักเสบของอุ้งเท้าหนู ที่เหนี่ยวนำด้วย carrageenin ได้ โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการมารวมกันของเม็ดเลือดขาว และ การสร้าง prostaglandin (13)
สาร (E)-1-(3,4-dimethoxyphenyl) butadiene (DMPBD) มีฤทธิ์ยับยั้งอาการบวมของหูหนูขาวที่เกิดจาก dethyl phenylpropiolate และ arachidonic acid (AA) ได้ดีกว่ายา diclofenac (14-15) DMPBD ยับยั้งการบวมที่เกิดจาก ethyl phenylpropiolate และ 12-o-tetradecanoylphorbol 13-acetate ได้ดีกว่ายา oxyphenbutazone และ phenidone นอกจากนี้พบว่า DMPBD และ diclofenac มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันในการยับยั้งการอักเสบของเท้าหนูขาวที่เกิดจาก carrageenan (16) แต่ที่เกิดจาก platelet activating factor (PAF) ไม่สามารถยับยั้งได้ (16) เมื่อนำ DMPBD มาทดสอบการยับยั้ง platelet aggregation ที่เกิดจาก collagen, adenosine diphosphate, AA และ PAF พบว่าสาร DMPBD สามารถต้านทานฤทธิ์ของ PAF ได้ดีที่สุด
สาร cassumunarins ที่พบในไพลมีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่เกิดจาก 12-o-tetradecanoylphorbol 13-acetate ที่หูของหนูถีบจักร สารดังกล่าวมีฤทธิ์ดีกว่า curcumin (17) และทดสอบสารชนิดหนึ่งที่แยกได้จากสารสกัดด้วยเมทานอลของไพล พบว่ามีฤทธิ์ลดการหลั่งสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้และอักเสบจากเซลล์ fibroblast ของผิวหนังมนุษย์ (18)
เมื่อพัฒนาน้ำมันไพลให้อยู่ในรูปของเจล (ไพลเจล) แล้วนำมาทดสอบ พบว่าไพลเจลสามารถลดการอักเสบของอุ้งเท้าหนูได้ ในการศึกษาทางคลินิกพบว่าไพลเจลสามารถลดการบวมได้เทียบเท่ากับ piroxicam gel ทั้งยังลดความแดงและบรรเทาอาการปวดได้ผล (19) เมื่อทดลองนำครีมไพล (ไพลจีซาล) ที่มีส่วนผสมของน้ำมันไพล 14 เปอร์เซ็นต์ ไปใช้ในผู้ป่วยข้อเท้าแพลง โดยให้ทาวันละสองครั้ง พบว่าสามารถลดการปวดบวมได้มากกว่ากลุ่มควบคุมเมื่อใช้ไปได้ 4 วัน โดยมีการกินยาแก้ปวด (paracetamol) ในสองวันแรกน้อยกว่ากลุ่มควบคุมด้วย ผู้ป่วยที่ได้รับไพลจีซาล สามารถงอข้อเท้าได้มากกว่ากลุ่มควบคุมแต่การงอของฝ่าเท้าไม่มีความแตกต่างกัน (20)
จากการทดลองฤทธิ์ของ DMPBD ต่อการยับยั้งการอักเสบพบว่า DMPBD มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase และ lipoxygenase ของกระบวนการเมทาบอลิสมของ arachidonic acid ที่ทำให้เกิดการอักเสบ (16) และการทดสอบสาร phenylbutenoids ในไพลจำนวน 7 ชนิด ต่อการยับยั้งเอนไซม์ในกระบวนการอักเสบ (cyclooxygenase-2) พบว่ามีสาร 4 ชนิดที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ ได้แก่สาร phenylbutenoid dimer 2 ชนิด มีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งเอนไซม์ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ (IC50) เท่ากับ 2.71 และ 3.64 ไมโครโมลาร์ สาร phenylbutenoid monomer 2 ชนิด มีค่า IC50 เท่ากับ 14.97 และ 20.68 ไมโครโมลาร์ ตามลำดับ (21)
2. ฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่
น้ำคั้นหัวไพลมีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ ช่วยลดอาการปวด (22) โดยน้ำคั้นของไพลความเข้มข้น 300 มก./มล. สามารถลดการนำไฟฟ้าในเส้นประสาท sciatic ของคางคกได้ 84.46 เปอร์เซ็นต์ในขณะที่ยา lidocaine ความเข้มข้น 0.2 มก./มล. ลดการนำไฟฟ้าได้ 93.09 เปอร์เซ็นต์หรือมีประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์มากกว่าน้ำคั้นของไพล 1500 เท่า (23)
3. ฤทธิ์ต้านฮิสตามีน
สารที่แยกได้จากส่วนสกัดเฮกเซนของไพล เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านฮิสตามีนในกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภา พบว่าสามารถยับยั้งฤทธิ์ของฮิสตามีนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ที่ความเข้มข้น 0.533 มก./มล. สารดังกล่าวสามารถยับยั้งฤทธิ์ของฮิสตามีนที่กระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบหลอดลม ในตัวหนูตะเภาได้ด้วย (24) นอกจากนี้ยังมีการทดสอบฤทธิ์ต้านฮิสตามีนของไพลในผู้ป่วยเด็กโรคหืด โดยฉีดฮิสตามีนที่แขนซ้ายก่อนได้รับยา และฉีดที่แขนขวาหลังการให้กินไพลแห้งบดในขนาด 11-25 มก./กก. 1 ชม.ครึ่ง วัดรอยนูนแดงหลังฉีดฮีสตามีน 15 นาที พบว่าไพลมีฤทธิ์ต้านฮิสตามีน โดยสามารถลดขนาดของตุ่มนูนที่เกิดจากการฉีดด้วยฮิสตามีน ได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังมีประสิทธิภาพน้อยกว่ายาคลอเฟนิลามีน (25)
4. ฤทธิ์แก้ปวด
สาร (E)-4 (3',4'-dimethylphenyl) but-3-en-l-ol จากไพลมีฤทธิ์แก้ปวดเมื่อทดสอบในหนูขาว (12) และไพลเจลมีฤทธิ์แก้ปวดเมื่อใช้เป็นยาทาภายนอก (19, 20)
5. การศึกษาเภสัชจลนศาสตร์
การศึกษาทางเภสัชจลนศาสตร์มีรายงานว่า การป้อนสาร B ที่แยกจากสารสกัดจากไพลด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ขนาด 25 มก./กก. (26) และ สารสกัดจากไพลด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ขนาด 2 ก./กก. (เทียบเท่าสาร D 15 มก./กก.) (27) ให้หนูขาวครั้งเดียว พบว่า ค่าความเข้มข้นสูงสุดในเลือดของสาร B และสาร D เท่ากับ 1.92 มคก./มล. (26) และ 0.75 มคก./มล. (26) ที่เวลา 1.12 ชม. (26) และ 1.04 ชม. (27) หลังได้รับสาร ตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบการดูดซึมและการขับออกของสาร D และ Diol ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของสาร D ที่สังเคราะห์ขึ้น พบว่าสาร D ดูดซึมเร็วกว่า แต่กำจัดออกจากร่างกายช้ากว่า (28, 29)
6. ฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย
สารสกัดจากไพลด้วยไดคลอโรมีเทนแสดงฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Bacillus substilis (แบคทีเรียแกรมบวก) และ Pseudomonas aeruginosa (แบคทีเรียแกรมลบ) โดยมีค่าความเข็มข้นต่ำสุดที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ (MIC) เท่ากับ 250 และ 125 มคก./แผ่น แต่สารสกัดจากไพลด้วยเมทานอลไม่แสดงฤทธิ์ยับยั้งเชื้อทั้งสอง และสารสกัดทั้งสองชนิดไม่สามารถยับยั้งเชื้อ Staphylococcus aureus ที่ดื้อต่อ methicillin และ Escherichia coli (30) สารสกัดจากไพลด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ แสดงฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคของระบบทางเดินหายใจคือ b-streptococcus group A แต่ไม่สามารถยับยั้งเชื้อ Pseudomonas aeruginosa, Staphylococcus aureus และ Klebsiella pneumoniae ได้ (31) ส่วนสารสกัดจากไพลด้วย ไดเอทิลอีเทอร์ น้ำ และ ปิโตรเลียมอีเทอร์ ไม่แสดงฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย B. subtilis, E. coli, P. aeruginosa และ S. aureus (32) Terpinene-4-ol มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียทั้งหมด (9 ชนิด) โดยมีค่า MIC อยู่ในช่วง 2 –5 มก./มล. แต่ sabinene ที่ความเข้มข้นแสดงฤทธิ์ยับยั้งเพียง 5 ชนิด โดยไม่สามารถยับยั้งเชื้อ E. coli, Salmonella typhimurium, Bacteroides fragilis และ Peptococcus sp. (33)
7. ฤทธิ์ต้านเชื้อรา
มีรายงานว่าสารสกัดจากไพลด้วยไดคลอโรมีเทนและเมทานอลไม่มีผลยับยั้ง Candida albicans (30) ขณะที่บางรายงานพบว่าสารสกัดไพลมีผลยับยั้งเชื้อราดังนี้ สารสกัดไพลสดด้วยเอทานอล ความเข้มข้น 2 มก./แผ่น เมื่อนำมาทดสอบด้วยวิธี paper disc diffusion สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราโรคพืชหลายชนิด ได้แก่ Candida albicans, Cryptococcus neoformans, Wangiella dermatitidis, Alternaria alternata, Aspergillus fumigatus, Fusarium oxysporum, Microsporum gypseum, Pseudallescheria boydii, Rhizopus sp. และ Trichophyton mentagrophytes (34) เมื่อนำเชื้อรามาทดสอบกับสารสกัดจากน้ำ, เมทานอล, ไดคลอโรมีเทนและเฮกเซน พบว่าสารสกัดจาก เมทานอล, ไดคลอโรมีเทนและเฮกเซนเท่านั้นที่มีฤทธิ์ต้านยับยั้งการเจริญของรา Epidermophyton floccousm, Microsporum gypseum, Trichophyton mentagrophytes และ Trichophyton rubrum ซึ่งเป็นเชื้อราโรคผิวหนัง (35)
น้ำมันหอมระเหยจากไพลมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อรา Aspergillus flavus ซึ่งเป็นเชื้อราที่สร้างความเสียหายให้กับอาหาร (36) นอกจากนี้สาร zerumbone ซึ่งเป็นสารพวก sesquiterpene ที่สกัดได้จากไพล มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา Rhizoctonia solani ซึ่งเป็นเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคเน่าในพืช โดยมีค่าความเข็มข้นต่ำสุดที่มีผลฆ่าเชื้อราได้เท่ากับ 1000 มก./ลิตร ซึ่งได้ผลดีกว่ายาฆ่าเชื้อราบางชนิด ข้อดีของสารดังกล่าวคือเป็นพิษกับเชื้อราได้น้อยชนิดและไม่มีพิษต่อพืช โดยการทดลองใช้ป้องกันการเน่าของเมล็ดพืชที่เกิดเชื้อรา R. solani พบว่าสามารถป้องกันได้ถึง 85.7 เปอร์เซ็นต์ (37)
เมื่อให้ครีมยาที่ผสมสารสกัดจากไพลด้วยแอลกอฮอล์กับผู้ป่วยที่เป็นโรคกลากที่ขาหนีบจำนวน 89 ราย แต่กลับมารับการตรวจประเมินเพียง 21 ราย พบว่าจำนวนผู้ป่วยที่กลับมาตรวจภายหลัง 6 ราย มี 2 รายที่รักษาได้ผล แต่ในผู้ป่วยที่ได้รับยา canesten กลับมาตรวจ 7 ราย มีเพียงรายเดียวที่รักษาไม่หาย และผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกกลับมาตรวจ 8 ราย มี 2 รายที่หายจากโรค (38)
8. ฤทธิ์ต้านการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ
สาร D ที่แยกจากสารสกัดจากไพลด้วยเฮกเซน เมื่อนำมาทดสอบกับกล้ามเนื้อเรียบลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภา พบว่าสาร D สามารถยับยั้งฤทธิ์ของฮิสตามีน อะเซททิลโคลีน นิโคทีน และเซโรโทนิน ได้อย่างสมบูรณ์ที่ความเข้มข้น 0.533, 0.533, 0.133 และ 0.533 มก./มล. ตามลำดับ และสารดังกล่าวสามารถยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบหลอดลมที่ถูกกระตุ้นด้วยฮิสตามีนและกล้ามเนื้อกระบังลมที่ถูกระตุ้นด้วยไฟฟ้าได้ ด้วยความเข้มข้น 0.133 มก./กก. และ 1.23 มก./กก. ตามลำดับ การทดลองในหนูตะเภา พบว่าสารดังกล่าวขนาด 8 มก./กก. สามารถยับยั้งฤทธิ์ของฮิสตามีนที่กระตุ้นให้หลอดลมหดตัวได้ (24) เมื่อนำสารสกัดจากไพลด้วยน้ำมาทดสอบผลต่อกล้ามเนื้อเรียบของหนูขาว พบว่าสามารถยับยั้งการบีบตัวของมดลูก ลำไส้และกระเพาะอาหาร ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ความเข้มข้น 0.09 0.28 และ 0.64 ก./มล. ตามลำดับ แต่ฤทธิ์ดังกล่าวของน้ำสกัดไพลต่อมดลูกและลำไส้สามารถยับยั้งได้โดย syntocinon และ acetylcholine ตามลำดับ เมื่อทดสอบกับกล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือดแดงจากสายสะดือเด็กทารกไม่พบการออกฤทธิ์ของน้ำสกัดไพลที่ชัดเจน (39) การศึกษาเพื่อหากลไกการออกฤทธิ์ของน้ำสกัดไพล ในมดลูกและลำไส้ของหนูขาว พบว่าเมื่อให้ยากลุ่ม a และ b - adrenergic blocking agents ไม่สามารถยับยั้งฤทธิ์ของน้ำสกัดไพลได้ แต่ยาหรือสารที่มีผลโดยตรงต่อกล้ามเนื้อเรียบ เช่น calcium, syntocinon และ acetylcholine สามารถยับยั้งผลของสารสกัดได้ แสดงว่าน้ำสกัดไพลอาจจะไม่ได้ออกฤทธิ์กับ a - หรือ b - adrenergic receptor แต่ออกฤทธิ์โดยตรงกับกล้ามเนื้อเรียบโดยลดระดับหรือยับยั้ง calcium หรืออาจจะลดอัตราการเกิด spontaneous action potential ของเซลล์กล้ามเนื้อเรียบโดยตรง (40)
9. หลักฐานความเป็นพิษและการทดสอบความเป็นพิษ
9.1การทดสอบความเป็นพิษ
การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลัน ไม่พบอาการเป็นพิษ แม้จะให้สารสกัดไพลด้วยแอลกอฮอล์ 50% ในขนาดเท่ากับไพล 10 ก./กก.ทั้งกรอกทางปาก และฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนูถีบจักร และเมื่อให้สารสกัด D (แขวนตะกอนใน 2% tween 80) ในขนาดสูงเทียบเท่าไพล 30 ก./กก.ทั้งกรอกปาก และฉีดเข้าทางช่องท้อง แต่เมื่อให้เกลือโซเดียมของสาร D ที่ละลายในน้ำฉีดเข้าช่องท้องในขนาด 450 มก./กก. จะทำให้หนูมีอาการหายใจลึกและถี่ เคลื่อนไหวน้อย และขาหลังมีอาการอ่อนเปลี้ยกว่าปกติ แต่หนูทั้งหมดยังมีชีวิตอยู่รอดภายหลังการทดลอง การทดสอบความเป็นพิษเรื้อรัง ไม่พบอาการผิดปกติใดๆ ทั้งจากการตรวจสอบลักษณะทั่วไป (gross examination) และจากการตรวจสอบทางชีวพยาธิวิทยา (24) มีผู้ทดสอบความเป็นพิษในหนูขาว พบว่าขนาดที่ทำให้หนูขาวตายครึ่งหนึ่งมีค่าเท่ากับ 4.00 ก./กก. เมื่อให้ทางหลอดเลือด อาการที่พบคือ ตัวเย็นซีด ชัก หายใจขัด หยุดหายใจและตายในที่สุด การใช้ quinidine 5.6 มก./กก. ร่วมกับ propanolol 2 มก./กก. จะช่วยลดอัตราการตายลง ทำให้ขนาดที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ทดลองเปลี่ยนเป็น 6.00 ก./กก. (41) การศึกษาพิษเฉียบพลันของตำรับยาแก้หืดไพลในหนูขาว พบว่าขนาดของสารสกัดด้วย 50% แอลกอฮอล์ และเฮกเซน ที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง คือ 20 และ 80 ก./กก.ตามลำดับ การศึกษาพิษกึ่งเรื้อรัง โดยผสมไพล ขนาด 0.5, 3 และ 18% ในอาหารหนู ให้หนูกินเป็นเวลา 6 เดือน พบว่าในขนาด 18% เท่านั้นที่ทำให้หนูโตช้า แต่ไม่พบความผิดปกติ ในค่าเคมีปัสสาวะและเลือด และการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่ออวัยวะ (42, 43) ส่วนขนาดของผงไพลที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งในหนูถีบจักร มีค่าสูงกว่า 10 ก./กก.และพบว่ามีพิษต่อตับเมื่อให้ไป 1 ปี และเมื่อให้ในลิง ในขนาด 50 เท่าของขนาดรักษาเป็นเวลา 6 เดือน ไม่พบพิษ (44)
เมื่อกรอกสารสกัดไพลด้วยแอลกอฮอล์ 50% ในหนูถีบจักร 10 ก./กก. ซึ่งเป็นขนาด 250 เท่าของขนาดที่ใช้ในคน และโดยฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 10 ก./กก. ยังไม่แสดงอาการพิษ (45) เมื่อทดสอบความเป็นพิษของน้ำมันไพลต่อสัตว์ทดลอง 3 ชนิด ได้แก่ หนูถีบจักร หนูขาว และกระต่าย โดยให้ทางปาก พบว่ามีค่าที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งเท่ากับ 2.15 ก./กก., 0.86 ก./กก. และ 0.825 ก./กก. ตามลำดับ จึงจัดว่าน้ำมันไพลเป็นสารที่มีความเป็นพิษเล็กน้อย (19) มีการทดสอบความเป็นพิษของ terpinen-4-ol จากน้ำมันไพล กับกระต่ายในเวลา 1-24 ชั่วโมง พบว่าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงกับกระต่าย นอกจากนี้ทดสอบการระคายเคืองของ terpinen-4-ol กับกระต่าย โดยสอดครีมความเข้มข้น 3, 5 และ 7% ปริมาณ 1 มล./วัน เป็นเวลา 10 วัน พบว่าไม่มีผลต่อน้ำหนักกระต่าย แต่มีความผิดปกติกับช่องคลอด, กระเพาะปัสสาวะ, มดลูก, รังไข่, ไตและ ตับ ขนาดของ terpinen-4-ol ที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งในหนูตัวผู้คือ 3.55 ก./กก.และในหนูตัวเมียคือ 2.5 ก./กก. (46) นอกจากนี้ terpinen-4-ol ที่ความเข้มข้น 0.016% ยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้ออสุจิของวัวเทียบเท่ากับยาสังเคราะห์ Nonyl phenoxy polyethoxy ethanol 0.025 เปอร์เซ็นต์ (1) และ terpinen-4-ol ที่ความเข้มข้น 2.5% ยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้ออสุจิของวัวใกล้เคียงกับยาสังเคราะห์ Delfen (46) ประสะไพลและน้ำสกัดจากประสะไพลที่ให้กับหนูขาว ในปริมาณ 2.5 ก/กก. และ 20 ก./กก. ตามลำดับ เมื่อสังเกตอาการใน 24 ชม.แรกไปจนถึง 14 วันถัดไป ไม่พบอาการพิษปกติและการตายในหนู (47)
9.2 ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์
เมื่อใช้สารสกัดเหง้าไพลด้วยน้ำร้อนในขนาด 0.5 c.c./Disc ไม่มีผลต่อ Bacillus subtillis H-17 (Rec+) และ M-45 (Rec-) (48) น้ำมันหอมระเหย และ terpinen-4-ol ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์กับ Sallmonella typhimuriumสายพันธุ์ TA98, TA100 (10, 46)