ค่ำคืนหนึ่งในปี ค.ศ. 1879 นายคอนสแตนติน ฟาห์ลเบอร์ก (Constantine Fahlberg) เสร็จจากการทดลองในห้องปฏิบัติการ ก็หยิบขนมปังขึ้นมากิน เขารู้สึกว่าขนมปังหวานผิดปกติ เขาคิดทันทีว่า มือของเขาจะต้องติดสารตัวใดตัวหนึ่งมาจากห้องทดลองแน่นอน เขาจึงกลับไปที่ห้องทดลองอีกครั้ง ลงมือชิมสารต่างๆ ทีละตัว จนพบว่า “แซกคาริน” (saccharin) นั่นเองที่เป็นสารให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 300-500 เท่าทีเดียว เขาจดสิทธิบัตรทันที โดยได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรในปี ค.ศ. 1885
ในปี ค.ศ. 1937 นายไมเคิล สเวดา (Michael Sveda) เป็นอีกผู้หนึ่งค้นพบน้ำตาลเทียมโดยบังเอิญ จากการลิ้มรสหวานจากปลายมวนบุหรี่ของเขา เขากลับไปค้นหาสารที่ติดมือจากห้องทดลองเช่นกัน และพบสารชนิดหนึ่ง เขาจึงให้ชื่อน้ำตาลเทียมของเขาว่า “ไซคลาเมต” (cyclamate) ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 30 เท่า
ในปี ค.ศ. 1965 นายเจมส์ สแกตเตอร์ (James Schlatter) นักเคมีได้ค้นพบน้ำตาลเทียมโดยบังเอิญอีกเช่นกัน เกิดจากการที่เขาเลียนิ้วมือเพื่อหยิบกระดาษจากปึกออกมา ปรากฏว่านิ้วมือของเขาหวาน เขาจึงไปค้นหาที่มาของความหวานบนนิ้วมือ ได้ค้นพบน้ำตาลเทียมอีกชนิดหนึ่งที่เชาให้ชื่อว่า “แอสพาร์เทม” (aspartame)