ป่าช้าหมอง หรือขันทองพยาบาท มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Suregada multiflorum (A.Juss.) Baill. นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกอีกมากมาย อาทิ ขนุนดง ขัณฑสกร สลอดน้ำ ช้องรำพัน ขันทอง ข้าวตาก หมากดูก มะดูก ข้าวตาก ขุนทอง ดูกหิน โจ่ง ดูกไหล ทุเรียนป่า ยางปลอก ฮ่อสะพานควาย และมะดูกดง เป็นพืชในกลุ่มไม้ยืนต้นที่นิยมนำมาปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับ เป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยากระจายอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของต้น โดยส่วนที่นิยมนำมาใช้เป็นยาก็ได้แก่ ราก เปลือกต้นและเนื้อไม้ ส่วนผลของเจ้าสมุนไพรชนิดนี้ก็ยังสามารถนำมารับประทานได้อีกด้วย
ภาพจาก ครอบครัวข่าว 3 |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของขันทองพยาบาท
ป่าช้าหมอง หรือขันทองพยาบาท เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงตั้งแต่ 3-7 เมตร ลักษณะใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบเป็นขอบขนาน ขนาดใบกว้าง 3-8 เซนติเมตร ยาว 9-22 เซนติเมตร มีดอกเป็นช่อสั้น ๆ ดอกตัวผู้จะมีขนาดเล็กสีเขียวอ่อนหรือเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ออกรวมกันเป็นกระจุกเล็ก ๆ กว้าง 12 มิลลิมเมตร มีกลีบรองดอก 5 กลีบ ไม่มีกลีบดอก แต่จะมีเกสรอยู่มาก ส่วนดอกตัวเมียจะมีลักษณะคล้ายกันแต่จะมีรังไข่ที่เหนือวงกลีบ และมีขนดอกหนาแน่น ผลมีลักษณะเกือบกลม ผิวเกลี้ยง ขนาดผลประมาณ 2 เซนติเมตร และแบ่งออกเป็นเล็ก ๆ จำนวน 3 พู ผลอ่อนจะมีเนื้อสีเขียว ส่วนผลแก่จะมีเนื้อสีเหลืองแสด เมล็ดมีขนาดค่อนข้างใหญ่ คือ 7-8 มิลลิเมตร โดยหนึ่งผลจะมี 3 เมล็ดอยู่ในแต่ละพูของผล มีเนื้อเยื่อขาว ๆ หุ้มอยู่
ภาพจาก โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช |
ต้นป่าช้าหมอง หรือขันทองพยาบาทนี้ สามารถพบได้ในป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ ที่มีความสูงไม่เกิน 600 เมตร โดยจะเริ่มออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายน และติดผลในเดือนเมษายนถึงมิถุนายนค่ะ
ภาพจาก โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
ป่าช้าหมอง ขันทองพยาบาท สรรพคุณล้ำค่า รักษาโรคผิวหนังได้ดี
เจ้าสมุนไพรชนิดนี้นอกจากจะเป็นสมุนไพรที่มีชื่อแปลกโดดเด่นแล้ว สรรพคุณของพืชสมุนไพรชนิดนี้ก็ดีเด่นไม่แพ้กันเลยล่ะ ซึ่งสรรพคุณของต้นขันทองพยาบาทนี้ ส่วนใหญ่ก็มาจากสามส่วนสำคัญอย่าง ราก เปลือกไม้ และเนื้อไม้ โดยแต่ละส่วนที่ว่ามามีสรรพคุณดังนี้ค่ะ
ราก - ใช้แก้ลม แก้อาการคันตามผิวหนัง แก้พิษในกระดูก แก้โรคผิวหนัง รักษาน้ำเหลืองเสีย
เปลือกไม้ - แก้โรคตับพิการ แก้ปอดพิการ รักษาอาการลมเป็นพิษ รักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน มีฤทธิ์เป็นยาถ่าย ยาระบาย ใช้รักษาเหงือกอักเสบ บำรุงสุขภาพฟันและเหงือกให้แข็งแรง แก้อาการคันตามผิวหนัง ถ่ายน้ำเหลือง แก้พิษในกระดูก ฆ่าพยาธิ แก้โรคเรื้อน คุดทะราด รวมทั้งรักษากามโรคได้
ภาพจาก โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช |
เนื้อไม้ - รักษากามโรค แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ไข้ รักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน แก้ลมพิษ แก้อาการผื่นคัน แก้พิษในกระดูก ฆ่าพยาธิ แก้โรคเรื้อน แก้ลมและโลหิตเป็นพิษ
นอกจากนี้ในตำรับยาพื้นบ้านยังมีการนำลำต้นของต้นขันทองพยาบาทมาใช้ในการต้มอาบสำหรับผู้หญิงที่กำลังอยู่ไฟ อีกทั้งยังถูกขนานนามว่าเป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่เป็นยาอายุวัฒนะ เพราะสมุนไพรชนิดนี้อุดมไปด้วยสารฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอันทรงพลัง ช่วยลดการอักเสบ ชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกาย และอาจยังสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ ขณะที่การศึกษาในต่างประเทศก็ยังพบอีกว่าสมุนไพรอย่างขันทองพยาบาทช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย
ภาพจาก ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์
ข้อควรระวังในการใช้ต้นขันทองพยาบาท
แม้ว่าจะมีสรรพคุณที่ช่วยรักษาโรคผิวหนัง แต่ว่าต้นขันทองพยาบาทก็ยังมีโทษที่อันตรายเช่นกัน โดยเฉพาะในเนื้อไม้ก็มีพิษทำให้เกิดอาการเมา และยังมีฤทธิ์เป็นยาเบื่ออีกด้วย หากจะนำมาใช้ควรศึกษาวิธีใช้ให้แน่ใจก่อน
ถึงจะเป็นสมุนไพรที่ชื่อยังไม่คุ้นหูเท่าไร แต่สรรพคุณก็ไม่ใช่ย่อย ๆ เลย ถึงอย่างนั้นก็ตาม ก็อย่านำมาใช้แบบสุ่มสี่สุ่มห้านะ ควรจะปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมุนไพรจะดีกว่า เพื่อที่การใช้สมุนไพรชนิดนี้จะได้ประโยชน์อย่างสูงสุดค่ะ