วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ต้นหญ้างวงช้าง


ค้นหา
ต้นหญ้างวงช้าง เป็นวัชพืชขึ้นตามทุ่ง สวน ป่า ที่รกร้างทั่วไป อายุสั้น ลำต้นขนาดเล็ก สูง 10-60 ซม. ลำต้นอวบน้ำสีเขียว มีขนละเอียดปกคลุมหนาแน่นทั้งลำต้นและใบ เป็นพืชที่เกิดตอนฤดูฝน ถึงหน้าแล้งจะตาย มักพบตามที่ชื้นแฉะ เช่น ตามริมแม่น้ำ ลำคลอง หรือทางนํ้า แหล่งน้ำต่างๆ ท้องนาหรือตามที่รกร้างต่างๆ

 และมีปลูกเก็บมาขายเป็นยาสดตามสวนยาจีนต่างๆ  สรรพคุณหญ้างวงช้าง เก็บทั้งต้นที่เจริญเต็มที่ มีดอก ล้างให้สะอาด ใช้สดหรือตากแห้งเก็บเอาไว้ใช้ก็ได้ 

ทั้งต้นรสขม ใช้เป็นยาเย็น แก้กระหายน้ำ ดับร้อนใน ขับปัสสาวะ แก้บวม แก้พิษปอดอักเสบ มีหนองในช่องหุ้มปอด เจ็บคอ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เด็กตกใจในเวลากลางคืนบ่อยๆ ปากเปื่อย แผลบวม มีหนอง และแก้ตาฟาง

ประโยชน์และโทษของหญ้างวงช้าง
ชื่อสามัญ Alacransillo, Eye bright, Indian Heliotrope, Indian Turnsole, Turnsole
ชื่อวิทยาศาสตร์ Heliotropium indicum Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Heliophytum indicum (L.) DC., Tiaridium indicum (L.) Lehm.
ชื่อวงศ์ BORAGINACEAE
ชื่ออื่น ๆ หวายงวงช้าง, ผักแพวขาว, 
หญ้างวงช้างน้อย

หญ้างวงช้าง เป็นไม้ล้มลุกประเภทวัชพืช จะเจริญเติบโตในช่วงฤดูฝน และตายไปในหน้าแล้ง มักพบอยู่ตามพื้นที่กลางแจ้งที่ชื้นแฉะและมีความชื้นบริเวณแม่น้ำ ลำคลอง ท้องนา ตามที่รกร้างหรือแหล่งน้ำต่างๆ สามารถเจริญได้ดีในดินทุกชนิด
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น 
ลำต้นมีลักษณะเป็นร่อง อวบน้ำ มีขนสีขาวปกคลุมอยู่ทั่วโดยเฉพาะบริเวณยอดอ่อน เป็นพืชล้มลุกที่มีระบบรากแก้ว แตกกิ่งก้านสาขาเป็นจำนวนมาก มีความสูงของลำต้นประมาณ 20-70 ซม.

ใบ มีลักษณะเป็นรูปทรงกลม กลมรี หรือกลมป้อม โคนใบมนรี ปลายใบแหลม มีความกว้างประมาณ 2-5 ซม. ยาวประมาณ 3-8 ซม. แผ่นใบมีสีเขียว ผิวย่น หยาบ ขอบใบหยักเล็กน้อย มีก้านใบยาวประมาณ 3-7 ซม. ออกเป็นใบเดี่ยวๆ เรียงสลับแบบตรงกันข้าม


ดอก ออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง ปลายช่อดอกม้วนลงมองดูคล้ายงวงช้าง มีความยาวของช่อดอกประมาณ 5-10 ซม. ภายในช่อจะประกอบด้วยดอกย่อยสีขาวหรือสีม่วงขนาดเล็กที่เรียงตัวกันอยู่ด้านบนก้านช่อดอกเป็นสองแถว โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ส่วนปลายกลีบดอกแยกออกเป็น 5 กลีบ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีเกสรเพศผู้ 5 อัน เกสรเพศเมีย 1 อัน

ผล  มีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือค่อนข้างกลม เปลือกแข็ง มีความยาวประมาณ 4-5 มม. ผลจะแตกออกเป็น 2 ซีกเมื่อแก่ ซึ่งในแต่ละซีกจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด

การขยายพันธุ์ 
ทำได้โดยการใช้เมล็ด

ประโยชน์
นำใบมาใช้รักษาสิว หรือนำมาย้อมเส้นไหมจะให้สีน้ำตาลอ่อน ทำให้เส้นไหมมีคุณภาพดี ทนทานต่อแสงและการซัก แหล่งที่มีหญ้างวงช้างเจริญเติบโตอยู่สภาพดินในบริเวณนั้นมักมีความอุดมสมบูรณ์สามารถปลูกพืชชนิดอื่นได้ดีเช่นกัน

สรรพคุณทางยา
ราก-ทำเป็นยาหยอดตาแก้อักเสบ ตาฟาง ตามัว หรือเจ็บตา ใช้เป็นยาขับระดู ใช้ตำพอกรักษาแผล ฝีหนอง

ทั้งต้น-ใช้เป็นยาแก้ชักในเด็ก แก้ตางฟาง แก้โรคลักปิดลักเปิด ใช้คั้นน้ำกลั้วปากแก้ปากเปื่อย ใช้เป็นยาแก้ไข้ ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไอ แก้อาการหอบหืด ช่วยแก้ปอดอักเสบ แก้ฝีในปอด แก้ปวดท้อง แก้บิด ช่วยขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา แก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ใช้รักษาโรคหนองใน ช่วยลดอาการปวดบวมจากฝีหนอง หรือแผลมีหนอง ใช้เป็นยารักษาไขข้ออักเสบ ปวดตามข้อ มีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษตานซาง แก้น้ำเหลืองเสีย รักษาเริม งูสวัด และขยุ้มตีนหมา

ใบ-ใช้เป็นยาลดระดับน้ำตาลในเลือด ใช้เป็นยาหยอดหู หยอดตาแก้อาการตาฟาง ทำเป็นยารับประทานแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ใช้น้ำกลั้วคอแก้อาการเจ็บคอ ใช้ตำพอกรักษาแผล ฝี โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน ไฟลามทุ่ง แมลงกัดต่อย อาการฟกช้ำ

ดอก-ใช้เป็นยาขับระดู

เมล็ด-ใช้เป็นยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร

และพบว่าหญ้างวงช้างยังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่ช่วยต่อต้านการเกิดเชื้อรา โรคมะเร็ง เร่งการสมานแผล ช่วยในการคุมกำเนิด และไล่แมลงได้ด้วย แต่สำหรับหญิงมีครรภ์ควรใช้ด้วยความระมัดระวังเพราะอาจทำให้แท้งบุตรได้ ส่วนในบุคคลทั่วไปก็ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากต้นหญ้างวงช้างมีสารพิษที่ไปออกฤทธิ์ต่อตับทำให้มีอาการอาเจียน ชักกระตุก ท้องเดิน ปวดท้อง และหมดสติ และอาจส่งผลให้เซลล์ตับถูกทำลายแบบเรื้อรังได้