วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2552

เรียนรู้เรื่องสมุนไพรและการเก็บรักษา

ความหมายของสมุนไพร
สมุนไพร หมายถึง “พืชที่ใช้ทำเป็นเครื่องยา” ส่วน ยาสมุนไพร หมายถึง “ยาที่ได้จากส่วนของพืช สัตว์ และแร่ ซึ่งยังมิได้ผสมปรุง หรือ แปรสภาพ” ส่วนการนำมาใช้ อาจดัดแปลงรูปลักษณะของสมุนไพรให้ใช้ได้สะดวกขึ้น เช่น นำมาหั่นให้มีขนาดเล็กลง หรือ นำมาบดเป็นผง เป็นต้นสมุนไพรนอกจากจะนำมาใช้ประโยชน์เป็นยารักษาโรคแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านอื่นๆอีก เช่นนำมาบริโภคเป็นอาหาร อาหารเสริมสุขภาพ เครื่องดื่ม สีผสมอาหาร และสีย้อม ตลอดจนใช้ทำเครื่องสำอางอีกด้วย
การใช้สมุนไพรเป็นยาบำบัดโรคนั้น อาจใช้ในรูปยาสมุนไพรเดี่ยวๆ หรือใช้ในรูปตำรับยาสมุนไพร ปัจจุบันตำรับยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณที่กระทรวงสาธารณสุขอนุญาติให้ใช้รักษาโรคได้ มีทั้งหมด 28 ขนาน เช่น
ยาจันทน์ลีลา ใช้แก้ไข้ แก้ตัวร้อน
ยามหานิลแท่งทอง ใช้แก้ไข้ แก้หัด อีสุกอีใส
ยาหอมเทพพิจิตร แก้ลม บำรุงหัวใจ
ยาเหลืองปิดสมุทร แก้ท้องเสีย
ยาประสะมะแว้ง แก้ไอ ขับเสมหะ
ยาตรีหอม แก้ท้องผูกในเด็กระบายพิษไข้
สำหรับสมุนไพรที่นิยมใช้เดี่ยวๆ รักษาอาการของโรคที่พบบ่อยๆ ได้แก่
สมุนไพรแก้ไข้ ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด
สมุนไพรแก้ท้องเสีย กล้วยน้ำว้า ทับทิม ฝรั่งดิบ
สมุนไพรแก้ไอ มะแว้ง ขิง มะนาว
สมุนไพรแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขมิ้นชัน แห้วหมู กระชาย
สมุนไพรช่วยให้นอนหลับ ขี้เหล็ก ดอกบัวหลวง หัวหอมใหญ่
สมุนไพรแก้เชื้อรา กระเทียม ข่า ชุมเห็ดเทศ
สมุนไพรแก้เริม เสลดพังพอนตัวเมีย และตัวผู้

การเก็บยาสมุนไพรให้ได้สรรพคุณที่ดี
1. พืชที่ให้น้ำมันหอมระเหย ควรเก็บในขณะดอกกำลังบาน
2. เก็บรากหรือหัว เก็บตอนที่พืชหยุดการปรุงอาหาร หรือเริ่มมีดอก
3. เก็บเปลือก เก็บก่อนพืชเริ่มผลิใบใหม่
4. เก็บใบ เก็บก่อนพืชออกดอก ควรเก็บในเวลากลางวัน ที่มีอากาศแห้ง
5. เก็บดอก ควรเก็บเมื่อ ดอกเจริญเต็มที่ คือ ดอกตูม หรือ แรกแย้ม
6. เก็บผล ควรเก็บผลที่โตเต็มที่แต่ยังไม่สุก
7. เก็บเมล็ด ควรเก็บเมื่อผลสุกงอมเต็มที่ จะมีสารสำคัญมาก

รูปแบบของยาสมุนไพร
การนำสมุนไพรมาใช้รักษาโรคนั้น ใช้ได้ในหลายรูปแบบ เช่น การใช้สมุนไพรสดๆ ใช้ในรูปยาต้ม ยาชง ยาลูกกลอน ยาดองเหล้า และยาพอก เป็นต้น
1. ใช้ในรูปสมุนไพรสดๆ สมุนไพรบางชนิดนิยมใช้ในรูปสมุนไพรสดจึงจะให้ผลดี เช่น วุ้นจากใบว่านหางจระเข้สดใช้ทาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก, ใบผักบุ้งทะเลสดนำมาตำ ใช้ทาแผลที่ถูกพิษแมงกระพรุน หรือกระเทียมสดนำมาฝานเป็นชิ้นบางๆ ใช้ทาบริเวณผิวหนังที่เป็นเชื้อรา เป็นต้น ในกรณีการใช้สมุนไพรสด ควรระวังในเรื่องของความสะอาด เพราะถ้าสกปรก อาจติดเชื้อทำให้แผลเป็นหนองได้
2. ตำคั้นเอาน้ำกิน ใช้สมุนไพรสดๆ ตำให้ละเอียดจนเหลว ถ้าไม่มีน้ำให้เติมน้ำลงไปเล็กน้อยคั้นเอาน้ำยาที่ได้กิน สมุนไพรบางชนิด เช่น กระทือ กระชายให้นำไปเผาไฟให้สุกเสียก่อนจึงค่อยตำ
3. ยาชง
ส่วนมากมักใช้กับพวก ใบไม้ เช่น หญ้าหนวดแมว, ใบชุมเห็ดเทศ, กระเจี๊ยบ เป็นต้น
วิธีทำ นำตัวยาที่จะใช้ล้างให้สะอาด ผึ่งให้แห้ง หรือ คั่วให้กรอบอย่าให้ไหม้ นำมาใส่ภาชนะที่สะอาด ไม่ใช้ภาชนะโลหะ วิธีชงทำโดยใช้สมุนไพร 1 ส่วน ผสมกับน้ำเดือด 10 ส่วน ปิดฝาทิ้งไว้ 5-10 นาที ยาชงเป็นรูปแบบยาที่มีกลิ่นหอมชวนดื่มและเป็นวิธีสะดวกรวดเร็ว ยาชง ตัวยาหนึ่งชุดนิยมใช้เพียงครั้งเดียว
4. ยาต้ม
เป็นวิธีที่นืยมใช้ และสะดวกมากที่สุด สามารถใช้ได้ทั้งตัวยาสดหรือแห้ง ในตัวยาที่สารสำคัญ สามารถละลายได้ในน้ำ โดยการนำตัวยามาทำความสะอาด สับให้เป็นท่อนขนาดพอเหมาะ และให้ง่ายต่อการทำละลายของน้ำกับตัวยา นำใส่ลงในหม้อ (ควรใช้หม้อดินใหม่หรือภาชนะเคลือบผิว ที่ไม่ให้สารพิษ เมื่อถูกความร้อน การใช้หม้ออลูมิเนียมหรือโลหะ จะทำให้ฤทธิ์ของยาลดลง หรือมีโลหะปนออกมากับน้ำยาได้) เติมน้ำให้ท่วมยา (โดยใช้มือกดลงบนยาเบาๆ ให้ตัวยาอยู่ใต้น้ำ) นำไปตั้งไฟ ต้มให้เดือด ตามที่ กำหนดในตำรับยา หรือถ้าไม่มีกำหนดไว้ ให้กำหนดดังนี้
ถ้าเป็นตัวยาที่มีน้ำมันหอมระเหย เช่น ขิง, กระวาน, กานพลู, ไพล, ใบกะเพรา ฯลฯ ให้ต้มน้ำให้เดือดเสียก่อน จึงนำตัวยาใส่ลงไป ปิดฝา ทิ้งไว้ให้เดือดนานประมาณ 2-5 นาที จึงรินเอาน้ำยามารับประทาน ครั้งละ ครึ่งถึง 1 ถ้วยกาแฟ ก่อนอาหาร หรือ เมื่อมีอาการ
ถ้าเป็นตัวยาให้ต้มรับประทานทั่วไป ให้นำตัวยาใส่ในหม้อ เติมน้ำท่วมยา แล้วจึงนำไปตั้งบนเตา ต้มให้เดือดนานประมาณ 15 นาที จึงรินเอาน้ำยามารับประทาน
ถ้าเป็นการต้มเคี่ยว เช่น เคี่ยวให้เหลือ 1 ใน 3 หรือ ครึ่งหนึ่ง ให้เอาตัวยาใส่หม้อ เติมน้ำท่วมยา ตั้งไฟต้มเคี่ยวไปจนกว่าจะเหลือ ปริมาณน้ำประมาณ 1 ส่วน หรือ ครึ่งหนึ่ง ตามกำหนด (เช่น ใส่น้ำก่อนต้ม 3 ขัน ให้ต้มเคี่ยวจนเหลือน้ำประมาณ 1 ขัน หรือ 1.5 ขัน)
ยาต้มที่ปรุงจากใบไม้ นิยมต้มรับประทานเพียงวันเดียวแล้วทิ้งไป
ยาต้มที่ปรุงจากแก่นไม้ เครื่องเทศ โกฐ เทียน ถ้าต้มอุ่นทุกวัน มีอายุได้ 7-10 วัน
ยาต้มที่ปรุงจากแก่นไม้ เครื่องเทศ โกฐ เทียน หัวของพืชแห้ง ถ้าต้มอุ่น เช้า-เย็น ทุกวัน มีอายุ 7-15 วัน
5. ยาดอง
ใช้ได้ผลดีกับตัวยาที่สารสำคัญละลายน้ำได้น้อย น้ำยาที่ได้จะออกฤทธิ์เร็วและแรงกว่าการใช้วิธีต้ม นิยมใช้กับตัวยาแห้ง โดยนำตัวยามาบดหยาบ หรือ สับเป็นท่อนเล็กๆ ใส่ลงในขวดโหลหรือไห เทเหล้าขาว นิยมใช้เหล้าข้าวเหนียว หรือเหล้าโรง ๔o ดีกรี แต่อาจใช้เหล้า ๒๘ ดีกรีแทนได้ ใส่ให้เหล้าท่วมยาพอประมาณ ถ้าเป็นตัวยาแห้ง ตัวยาจะพองตัว ทำให้เหล้าแห้งหรือพร่องไป ควรเติมให้ท่วมยาอยู่เสมอ นิยมใช้ไม้ไผ่ซี่เล็กๆขัดกันไม่ให้ตัวยาลอยขึ้นมา ควรคนกลับยาทุกวัน ปิดฝาทิ้งไว้ นานประมาน 30 วัน จึงรินเอาน้ำยามาใช้ หรือรับประทาน
ในกรณีที่สารสำคัญไม่สลายตัว เมื่อถูกความร้อนอาจย่นเวลา การดองได้โดยใช้ วิธีดองร้อน คือ นำตัวยาห่อผ้าขาวบางสะอาด ใส่โหล เทเหล้าลงไปให้ท่วมยา เอาขวดโหลที่ใส่ยาและเหล้าแล้ว วางลงในหม้อใบโตพอเหมาะ เติมน้ำธรรมดาลงในหม้อชั้นนอก ทำเหมือนการตุ๋น กะอย่าให้มากเกินไป นำไปตั้งไฟต้มน้ำให้เดือด แล้วยกขวดโหลยาออกมา ปิดฝาทิ้งไว้ ประมาณ 7-14 วัน ก็สามารถรินเอาน้ำยามาใช้ได้
ห้ามใช้กับผู้ที่มีความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หญิงมีครรภ์
6. ยาเม็ด
ยาไทยส่วนมาก มักจะมีรสที่ไม่ค่อยชวนรับประทาน สำหรับตัวยาบางตัวสามารถนำมาทำเป็นยาเม็ด เพื่อให้การใช้สะดวกขึ้น การทำยาเม็ด นิยมทำเป็นแบบ ลูกกลอน (เม็ดกลม) และเม็ดแบน (โดยใช้แบบพิมพ์อัดเม็ด) ในปัจจุบัน เพิ่มการบรรจุแคปซูลเข้าไปอีกวิธีหนึ่ง
วิธีทำ
เตรียมตัวยา
นำตัวยาที่ผ่านการอบให้แห้ง และฆ่าเชื้อแล้ว มาบดให้ละเอียด
เตรียมน้ำผึ้ง
น้ำผึ้งที่ใช้ควรเป็นน้ำผึ้งแท้ น้ำผึ้งที่นิยมใช้ตามแบบโบราณ ควรเป็นน้ำผึ้งแบบธรรมชาติ ที่มีส่วนผสมของนมผึ้งเกสรดอกไม้ และสารต่างๆครบถ้วน ไม่นิยมใช้ผึ้งเลี้ยงที่ถูกดูดเอาส่วนสำคัญออกหมดแล้ว นิยมใช้สดๆ ไม่นำไปผ่านความร้อน เพราะจะทำให้สารอาหารและแร่ธาตุบางตัวสลายไป แต่การใช้น้ำผึ้งแบบนี้ ยาที่ได้จะเก็บไว้ได้ไม่นาน มักจะผสมปั้นเม็ดเก็บไว้ใช้ไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ ถ้าจะเก็บไว้นานๆ ต้องนำไปอบให้แห้งสนิท ในอุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียส วิธีนี้จะได้สรรพคุณครบถ้วนตามแผนโบราณ ในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถเก็บยาได้นาน จะต้องนำน้ำผึ้งมาเคี่ยวให้งวดลงจนได้ความเหนียวตามต้องการ จึงนำมาใช้ผสมยา
ตักยาที่บดเป็นผงแล้วใส่ในภาชนะตามปริมาณที่ต้องการ เทน้ำผึ้งลงไปทีละน้อย ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ต้องระวังอย่าให้แฉะ แล้วทิ้งไว้สักครู่เพื่อให้น้ำผึ้งซึมเข้าในตัวยาอย่างทั่วถึง จึงนำมาปั้นเม็ด โดยใช้รางไม้ หรือเครื่องปั้นเม็ดจะได้ยาเม็ดกลมที่เรียกว่า ยาลูกกลอน หรือนำมาอัดเม็ด ด้วยแม่พิมพ์กดด้วยมือ จะได้ยาเม็ดแบน
นำเมล็ดยาที่ได้ไปผึ่ง ในที่โล่ง 1-2 วัน หรืออบในอุณหภูมิประมาณ 60-องศาเซลเซียส 8-12 ชั่วโมง เมื่อแห้งสนิทดีแล้ว บรรจุในขวดสะอาดแห้งสนิท เก็บไว้ในที่แห้งไม่ถูกแสงแดด
ในการทำยาเม็ดในกรรมวิธีแผนโบราณ นอกจากจะใช้น้ำผึ้ง เป็นกระสายผสมยาเพื่อปั้นเมล็ดแล้ว ยังสามารถใช้น้ำกระสายยาอื่นๆ มาผสมเพื่อปั้นเม็ดได้อีกมากมาย เช่น น้ำดอกไม้เทศ, เหล้า เป็นต้น กรรมวิธีก็เช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว แต่การปั้นเม็ดจะ ยากง่ายตามความเหนียวของน้ำกระสายยานั้นๆ ถ้าน้ำกระสายยาที่ไม่มีความเหนียว อาจเปลี่ยนมาใช้วิธีอัดเม็ดด้วยแม่พิมพ์กดด้วยมือ ซึ่งก็ได้ผลดีเช่นกัน

ขนาดการใช้ยา
ตัวยาสมุนไพรมีปริมาณสารสำคัญที่ใช้ในการรักษา ไม่คงที่แน่นอน เนื่องจากสาเหตุหลายประการ และนอกจากจะมีสารสำคัญ ที่ใช้ในการบำบัดรักษาแล้ว ยังมีสารอื่นๆอีกหลายชนิด ทั้งที่เป็นสารสำคัญ และกากยา ดังนั้น การใช้ยาสมุนไพร จึงใช้โดยประมาณปริมาณ เพื่อให้การให้ยาแต่ละครั้งมีปริมาณสารสำคัญหรือสรรพคุณยา เพียงพอที่จะบำบัดรักษา และไม่เกินความต้องการ อันอาจก่อให้เกิดพิษภัยได้ การกำหนดขนาดของยาที่ใช้แต่ละครั้ง จึงขึ้นอยู่กับ ดุลยพินิจของหมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรายที่ป่วยหนัก โรคร้ายแรงหรือยาที่มีฤทธิ์แรง จะต้องอาศัยความรู้ความชำนาญซึ่งเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะของผู้เป็นแพทย์
จะอย่างไรก็ตาม การใช้ยาสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง สามารถกระทำได้ เฉพาะในการใช้ตัวยาสมุนไพรที่ไม่มีผลข้างเคียง ไม่มีพิษ หรือที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไป ซึ่งมีขนาดการใช้ยาดังนี้
1. ยาชง ใช้ตัวยาสมุนไพรแห้ง หนักประมาณ 7-15 กรัม แช่ในน้ำร้อน ค่อนแก้ว ดื่มเฉพาะน้ำครั้งเดียว
2. ยาต้ม รินเอาน้ำยาดื่ม ครั้งละครึ่ง ถึง 1 ช้อนกาแฟ เด็กลดลงตามส่วน
3. ยาเม็ด ครั้งละหนักประมาณ 1-2 กรัม หรือ เม็ดขนาดเท่าลูกมะแว้ง 3-5 เม็ด ยกเว้นยาที่มีฤทธิ์แรง หรือยาถ่าย ควรใช้ตามหมอสั่ง หรือตามธาตุหนักเบา (คือ ถ้ากินยาแล้วถ่ายมาก คราวต่อไปให้ลดปริมาณยาลง ถ้าถ่ายน้อยก็ให้เพิ่มปริมาณยาขึ้นตามส่วน)
4. ยาผง ครั้งละ หนักครึ่งถึง 1 กรัม ละลายน้ำร้อน หรือกระสายยารับประทาน
5. ยาดอง รับประทานครั้งละ ประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะ

เวลาใช้ยา
ยาสมุนไพรส่วนมากนิยมรับประทานก่อนอาหาร เพื่อไม่ให้สรรพคุณยาเสียไปจากการย่อย เว้นแต่
ยาที่มีฤทธิ์กัดกระเพาะอาหาร ควรรับประทานหลังอาหาร
ยาสมุนไพรส่วนใหญ่ นิยมรับประทาน วันละ 2-เวลา ก่อนอาหาร เช้า-เย็น
ในกรณีที่อาการของโรครุนแรง อาจให้ วันละ 3-เวลา เช้า-กลางวัน-เย็น
ถ้าอาการหนัก อาจเพิ่ม ก่อนนอนอีกหนึ่งครั้ง
ถ้าอาการหนักมาก อาจให้ยาทุก 4-ชั่วโมง จนกว่าอาการจะดีขึ้น
การให้ยาตามแผนโบราณยังต้องคำนึงถึง กาลสมุฏฐาน กำลังยา กำลังโรค และ กำลังคนไข้ด้วย