ชื่อพ้อง Pueraria mirifica
ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE
ชื่ออื่น ๆ กวาวเครือ, กวาว, ทองเครือ, ทองกวาว, กวาวหัว ตามจอมทอง, จานเครือ, โ
พะตะกู, ตานเคือ, ตานเครือ
ส่วนที่ใช้ หัวใต้ดิน
การปลูก ทำได้ 3 วิธีดังนี้
1. การเพาะเมล็ด โดยการเพาะเมล็ดในกระบะขี้เถ้าแกลบประมาณ 45 วัน นำต้นกล้าที่ได้ปลูกลงถุงเพาะชำโดยใช้ดิน 2 ส่วน ขี้เถ้าแกลบ 1 ส่วน เปลือกมะพร้าวสับ 1 ส่วน ค่า pH ประมาณ 5.5 เมื่อต้นกล้าเจริญเติบโตได้ 60 วัน จึงนำลงแปลงปลูกกลางแจ้ง โดยทำด้วยไม้ไผ่ หรือปลูกร่วมกับไม้ยืนต้นในกระบวนการเกษตร เช่น ไผ่ สัก ปอสา หรือไม้ผลอื่น ๆ พื้นที่ปลูกควรอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 300-900 เมตร
2. การปักชำ นำเถาที่มีข้อมาปักชำในกระบะ หรือถุงที่บรรจุขี้เถ้าแกลบ เมื่อเถาแตกรากและยอกแข็งแรงดีแล้ว จึงนำลงแปลงปลูกต่อไป โดยการเพาะเมล็ดและการแยกหัว ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
3. การแบ่งหัวต่อต้น หัวของกวาวเครือไม่มีตาที่จะแตกเป็นต้นใหม่ จำเป็นต้องใช้ส่วนของลำต้นมาต่อเชื่อตามวิธีการขยายพันธุ์แบบต่อราก เลี้ยงกิ่ง (nursed root grafting) สามารถนำหัวกวาวเครือขนาดเล็ก อายุประมาณ 6 เดือนขึ้นไป และต้นหรือเถาที่เคยทิ้งไปหลังการเก็บเกี่ยวมาขยายพันธุ์ได้ หลังการต่อต้นประมาณ 45-60 วัน ก็สามารถนำลงปลูกได้ และมีข้อดีคือสามารถต่อต้นกับหัวข้ามสายพันธุ์ได้
การเก็บเกี่ยวและวิธีปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
หัวใต้ดินจะขุดไปใช้ทางยาได้ก็ต่อเมื่อไม่มีใบ หัวแข็งใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15-25 ซม. และมีวิธีการเก็บเกี่ยว ดังนี้
1. ขุดหัวและทำความสะอาดผึ่งให้แห้ง ผ่าหัวภายใน 3-4 วัน ถ้าทิ้งไว้นานหัวจะแห้งและเน่า
2. ปอกเปลือกออกและใช้มีดฝานเป็นชิ้นบาง ๆ ตากแดด 3 วัน เมื่อแห้งสนิทใส่ภาชนะหรือถุงที่แห้ง ปิดปากถุงให้แน่น
กวาวเครือที่เก็บเกี่ยวจะมีขนาดหัวใหญ่กว่า 2 กิโลกรัม และยังไม่มีรายงานว่าหัวกวาวเครืออายุเท่าไร ขนาดใดและขุดฤดูกาลไหนที่หัวให้สารสำคัญมากที่สุด
สารสำคัญ
สารที่ออกฤทธิ์สำคัญที่พบในหัวกวาวเครือเป็นสารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิง (phytoestrogens) ได้แก่ miroestrol และ deoxymiroestrol ซึ่งมีฤทธิ์แรงแต่มีปริมาณน้อยและมี phytoestrogens ที่มีฤทธิ์อ่อนแต่มีปริมาณมากกว่า จำพวก isoflavones อีกหลายชนิด เช่น daidzein, genistein, daidzin, genistin, puerarin, mirificin, และ kwakhurin
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
การศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่า เมื่อนำกวาวเครือขาวมาใช้ในการคุมกำเนิดสัตว์ทดลอง เช่น นกกระทา หนูทดลอง สุนัข และแมว พบว่า สามารถคุมกำเนิดได้ทั้ง 2 เพศ โดยในสัตว์ทดลองเพศผู้พบว่า กวาวเครือขาวปริมาณสูงทำให้หนูขาวเพศผู้ไม่ผสมพันธุ์สำหรับสัตว์เพศเมียทำให้ปากช่องคลอดขยายใหญ่ มดลูกใหญ่ การตกไข่ถูกยับยั้ง
รายงานการวิจัยทางคลินิก
ในปี 2503 มีรายงานการศึกษาประสิทธิผลของ miroestrol ในการชักนำให้เกิด withdrawal bleeding ในหญิงที่มีสภาวะประจำเดือนไม่มาตามปกติ พบว่า ในผู้ป่วยที่ได้รับ miroestrol นั้นน้อยกว่าครึ่งหนึ่งใช้ได้ผลคือเกิด withdrawal bleeding และใช้เวลานานกว่าจะเห็นผลเมื่อเทียบกับเอสโตรเจน แต่มีฤทธิ์ข้างเคียงพอ ๆ กัน
นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 1 และ 2 เพื่อศึกษาความปลอดภัยและผลข้างเคียงของการใช้กวาวเครือขาวในสตรีวัยใกล้หมดและหมดระดู เพื่อรักษาอาการ vasomotor (อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกกลางคืน) และอาการร่วมอื่น ๆ พบว่า กวาวเครือขาวลดอาการ vasomotor ได้ค่อนข้างดี แต่ทำให้เกิดข้างเคียงในผู้ป่วยบางราย เช่น เต้านมตึงคัด เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด อย่างไรก็ตาม ขนาดของกวาวเครือขาวที่เหมาะสมยังต้องการประเมินผลทางคลินิกเป็นสำคัญในผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นต่อไป
การศึกษาทางพิษวิทยาในสัตว์ทดลอง
ผลการศึกษาพิษกึ่งเรื้อรังของกวาวเครือ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ด้วยการกรอกผงกวาวในขนาดต่าง ๆ ติดต่อกันในหนูขาว พบว่า การให้ขนาดน้อย ๆ ไม่พบความผิดปกติในสัตว์ทดลอง แต่ถ้าให้ขนาดสูงจะพบความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือด ค่าชีวเคมีของเลือด และความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์
ข้อห้ามใช้
ตามตำรายาของหลวงอนุสารสุนทร จะห้ามไม่ให้คนหนุ่มสาวรับประทานกวาวเครือขาว ซึ่งจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ในปัจจุบัน ข้อห้ามนี้ถือเป็นภูมิปัญญาที่ชาญฉลาดของคนโบราณเนื่องจากกวาวเครือขาว มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิงที่ค่อนข้างแรง หากคนหนุ่มสาวรับประทานจะรบกวนระบบฮอร์โมนเพศได้
ข้อควรระวัง
ห้ามรับประทานเกินกว่าขนาดที่แนะนำให้ใช้
อาการข้างเคียง
อาจทำให้เกิดการเจ็บเต้านม มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ปวดหรือเวียนศีรษะ คลื่นไส้
ข้อบ่งใช้
ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2542 กวาวเครือขาวจัดเป็นตัวยาตัวหนึ่งในตำรับยาบำรุงร่างกาย สำหรับสรรพคุณในการบรรเทาอาการของสตรีวัยหมดประจำเดือนนั้น ยังต้องทำการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจในประสิทธิผลและความปลอดภัยก่อน
ขนาดที่ใช้
จากผลการศึกษาพิษกึ่งเรื้อรังของกวาวเครือขาว โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงแนะนำว่า เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ขนาดใช้ของผงกวาวเครือขาวในคนไม่ควรเกิน 1-2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน หรือประมาณวันละ 50-100 มิลลิกรัม ซึ่งปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนดขนาดรับประทานของกวาวเครือขาวไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/วัน
เอกสารอ้างอิง
1. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชน จำกัด, 2544 หน้า 441.
2. คู่มือสมุนไพรและเครื่องเทศ ชุดที่ 2 ยาจากพืชสมุนไพร, 2543.
3. สมโภชน์ ทับเจริญ. การขยายพันธุ์กวาวเครือโดยวิธีการแบ่งหัวต่อต้น. เอกสารประกอบการสัมมนางานประชุมวิชาการกวาวเครือขาว. วันที่ 13 กันยายน 2545 ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดนนทบุรี. 11
4. Nature 1960; 774-777
5. J Nat Prod 2000; 63(2): 173-5
6. http://fda.moph.go.th/fda-net/html/product/apr/bulletin/vol122/title3.htm
7. ยุทธนา สมิตะสิริ. ภาพรามงานวิจัยและพัฒนากวาวเครือขาว ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2524 -2541). เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการเรื่องกวาวเครือขาว ; 1 ธันวาคม 2541. นนทบุรี: กระทรวงสาธารณสุข, 2541. 13-27
8. J Med Assoc Thai 2004; 87(1): 33-40.
9. ว. กรมวิทย พ. 2543 ; 42(3) :202-223.
10. หลวงอนุสารสุนทร. ตำรายาหัวกวาวเครือ.โรงพิมพ์อุปติพงศ์
11. คู่มือผลิตภัณฑ์ยาจากสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจชุมชน. พิมพ์ครั้งที่ 2 โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก, กรุงเทพฯ. 2544 หน้า 164