ผักพื้นบ้าน ที่เรากินกันอยู่เป็นประจำ คุณรู้หรือไม่ว่า ล้วนแต่มีประโยชน์ทั้งนั้น มีทั้งวิตามิน และสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ผักพื้นบ้านต่างๆ เหล่านั้น นอกจากทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์แล้ว ยังส่งผลให้ผิวพรรณสดใสสวยงามอีกด้วย การกินผักผลไม้เป็นประจำ จึงทำให้มีผิวพรรณสวยงาม มีน้ำมีนวล ซึ่งนอกจากคุณค่าทางสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ผักพื้นบ้านของเรายังให้คุณค่าในทางสมุนไพร ที่คนสมัยก่อนนำมาเป็นยาสมุนไพรรักษาโรค หรือกินเพื่อบำรุงร่างกายให้แข็งแรง รวมถึงรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ซึ่งก็คล้ายๆ กับโรคที่คนในสมัยปัจจุบันเจอกันอยู่
ลำเท็ง หรือบางพื้นที่ เรียกว่า ลำเพ็ง
ลำเท็ง อาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น ลำเพ็ง ผักกูดแดง ผักยอดแดง สำหรับทางภาคใต้ส่วนมากจะเรียกว่า ลำเท็ง หรือ ลำเพ็ง
ผักพื้นบ้านชนิดนี้ ถูกจัดเป็นพืชตระกูลเฟิร์น เช่นเดียวกับ ผักกูด มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Stenochlaena palustris (Burm.f.) Bedd ลำเท็ง มีลำต้นอยู่บนพื้นดินหรือเกาะขึ้นบนต้นไม้ใหญ่ ลำต้นกลมสีเขียว ซึ่งขนาดนั้นจะขึ้นอยู่กับความสมบรูณ์ของพื้นที่นั้นๆ
ใบอ่อน มีสีน้ำตาลแดง ซึ่งจะไม่สร้างสปอร์ (ใบที่สร้างสปอร์มีขนาดเล็กกว่าใบปกติ)
ลำต้น อยู่บนพื้นดินหรือเกาะขึ้นต้นไม้ใหญ่
ส่วนที่ใช้ประโยชน์
ยอดอ่อน จะนำยอดมากินสดๆ (ให้รสชาติจืดเย็น) หรือจะนำมาย่างไฟอ่อนๆ แล้วจิ้มน้ำพริกก็อร่อย หรือจะนำไปเป็นผักลวก และที่นิยมมากสำหรับคนใต้ คือ แกงเลียง ใส่ปลาย่าง (น้ำแกงเลียงยอดลำเพ็งจะให้สีม่วงอมแดง) เพิ่มความเปรี้ยวด้วยระกำ หรือยอดมะขามอ่อนก็ได้รสชาติสุดยอดแล้ว
ลำต้น นำไปสานเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ เช่น ข้องที่ใส่ปลา เป็นต้น
สรรพคุณทางยา
ราก รักษาแผลงูกัด
ยอดอ่อน มีสรรพคุณบำรุงเลือด และเมือกจากยอดอ่อนของลำเท็ง ยังสามารถรักษาโรคหูดได้ดีอีกด้วย
เถา ใช้เป็นยาบำรุงหญิงที่เพิ่งคลอดบุตร
ใบ ตำผสมกับดินประสิวดิบเล็กน้อย โปะกระหม่อมเด็กแก้ร้อนใน
ทั้งต้น ต้มแก้ไข้ ได้หลายชนิด ได้แก่ ไข้ปวดหัวตัวร้อน ไข้หวัด หืดหอบ เป็นต้น
เถาแก่ นำใบออกตากแดดพอหมาด ใช้ผูกมัดได้ดี และทนความเปียกชื้น
ลักษณะทั่วไป
เป็นเฟิร์นเลื้อยเถา อยู่รวมกันเป็นกอ ลักษณะกลมสีเขียว มีใบย่อยเป็นใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับกัน ก้านใบยาว 6-10 เซนติเมตร ใบย่อยรูปใบหอกและมีใบย่อย 15 คู่ ปลายใบแหลม ขอบใบหยัก โคนใบสอบเรียวสั้น ขอบใบหยักฟันเลื่อย ด้านบนของใบมันวาว หลังใบมีเส้นนูน ใบอ่อนมีสีแดงอมน้ำตาลม้วนแบบก้นหอย มีขนตามก้าน ก้านใบแก่มีสีเขียวและแข็ง
เป็นไม้เถามีไหลเลื้อยยาวเกาะยึดติดกับไม้อื่นใบแบบเฟิร์นคล้ายยอดผักกูด แต่จะมีสีแดงอมน้ำตาล ถึงแดงเข้ม ให้ยอดตลอดทั้งปี
แหล่งที่พบ
ลำท็ง พบเห็นได้โดยทั่วไป ตามริมห้วย ที่ลุ่มป่าพรุ ที่ชื้นแฉะตามป่า และพบขึ้นพันกับต้นไม้ใหญ่ตามป่าที่อุดมสมบรูณ์อยู่และยังไม่โดนทำลาย
เป็นผักพื้นบ้านของคนโบราณจริงๆ เพราะถ้าไปถามคนพื้นบ้านหรือพื้นถิ่นโบราณโดยเฉพาะคนใต้นั้นจะรู้จักผักชนิดนี้เป็นอย่างดี แต่ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่สมัยนี้แล้ว น้อยคนนักที่จะรู้จักประโยชน์และคุณค่าของผักชนิดนี้
ผู้เขียนเองก็ยอมรับว่าเป็นคนโบราณ เพราะรู้จัก ผักพื้นบ้านชนิดนี้ กับเขาเหมือนกัน ทั้งที่ตัวเองก็ไม่ใช่คนใต้ แต่อาจเป็นเพราะด้วยเหตุบังเอิญ หรือโชคชะตานำพาให้มาอยู่ภาคใต้ก็ได้ ถ้าได้ลงพื้นที่ จะชอบเดินตลาดนัดตามข้างทาง ดูอาหารการกินของคนใต้ว่ามีอะไรบ้างที่พื้นถิ่นตนเองไม่มี จึงทำให้ได้รู้จัก เจ้าผักพื้นบ้านที่ชื่อ ลำเท็ง และได้ลองลิ้มชิมรสเมนูที่ผ่านการปรุงจาก ลำเท็ง ก็รู้สึกว่าแปลกและอร่อยดี จึงสนใจศึกษาผักพื้นบ้าน ที่มากด้วยคุณประโยชน์ของคนใต้ชนิดนี้ขึ้นมา
ในการนำผักพื้นบ้านชนิดต่างๆ มาปรุงเป็นอาหารเพื่อบริโภค สำหรับคนพื้นบ้านพื้นถิ่นนั้นจะมีวิธีการที่เรียบง่าย กรรมวิธีการปรุงมีการผสมผสานที่ลงตัว ทำให้ได้อาหารที่มีรสชาติกลมกล่อม นับว่าเป็นเอกลักษณ์อาหารประจำท้องถิ่น
ผักพื้นบ้านอาจจะมีรสชาติที่แตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด เช่น รสร้อน รสเย็น รสเปรี้ยว รสฝาด รสมันและรสขม ซึ่งภูมิปัญญาชาวบ้านพื้นถิ่นเชื่อว่า รสชาติของผักพื้นบ้านเมื่อได้บริโภคแล้วจะให้ประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย ทั้งช่วยควบคุมธาตุในร่างกายให้อยู่ในสภาวะสมดุล รวมถึงทำให้ร่างกายแข็งแรงไม่ค่อยเจ็บป่วย การพึ่งตนเองตามแนวทางการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภคนั้น เป็นทางเลือกในการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ยิ่งถ้าเป็น ยอดลำเท็ง แล้วรับรองว่าเป็นผักพื้นบ้านที่ปลอดภัยจริงๆ เพราะส่วนใหญ่ ลำเท็ง จะขึ้นเองตามธรรมชาติ จึงรับรองได้ว่าปลอดสารพิษ
สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยสัมผัสกับผักพื้นบ้านของไทย ลองหันมาบริโภคผักพื้นบ้านกันบ้าง แล้วจะรู้สึกว่าดีกับร่างกายของเรา
ผักพื้นบ้านนอกจากจะหาได้ง่ายแล้วยังสามารถนำมาปลูกเองไว้กินเองภายในบ้าน แถมเรายังสามารถควบคุมคุณภาพได้อีกด้วย