ค้นหา

ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

Wikipedia

ผลการค้นหา

วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2553

~ อาหารปนเปื้อนสารเคมี...อันตราย ~


วารสารสำหรับลูกค้า บริษัทกรุงเทพประกันชีวิต จำกัด
ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๑๑ มกราคม – มีนาคม ๒๕๔๘

อาหารหลากหลายชนิดที่เรารับประทานเป็นประจำ ซึ่งบางทีรับประทานเข้าไปโดยไม่รู้ว่าอาหารเหล่านั้นมีสารเคมีปนเปื้อนอยู่มากบ้าง น้อยบ้าง ตามแต่ผู้ผลิตต้องการจะยัดเยียดสารพิษเหล่านั้นให้กับเรา สารพวกนี้ล้วนเป็นอันตรายต่อสุขภาพและอาจเป็นต้นเหตุให้เกิดโรคร้ายแรงตามมามากมาย ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับสารเคมีสำคัญ ๆ ที่มักจะถูกผสมลงไปในอาหารเพื่อหลีกเลี่ยงกันดีกว่าค่ะ

๑ . สารบอแรกซ์ (Borax) มีลักษณะเป็นผงสีขาวมีชื่ออื่น ๆ อีก เช่น น้ำประสานทอง สารข้าวตอก ผงกันบูด เพ่งแซ ผงเนื้อนิ่ม สารบอแรกซ์เป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น ทำแก้ว เพื่อทำให้ทนความร้อน เป็นสารประสานในการเชื่อมทอง เป็นสารหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราในแป้งทาตัว เป็นต้น แม่ค้ามักนำมาผสมในอาหารเพื่อให้อาหารมีความหยุ่นกรอบ คงตัวได้นาน ไม่บูดเสียง่าย อาหารที่มักพบว่ามีสารบอแรกซ์ได้แก่ หมูบด ลูกชิ้น ทอดมัน หมูสด เนื้อสด ไส้กรอก ผลไม้ดอง ทับทิมกรอบ ลอดช่องเป็นต้น

พิษของสารบอแรกซ์เกิดได้สองกรณี คือ

๑ . แบบเฉียบพลัน จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาจจาระร่วง อ่อนเพลีย ปวดศรีษะ หงุดหงิดผิวหนังอักเสบ ผมร่วง

๒ . แบบเรื้อรัง จะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ผิวหนังแห้ง หน้าตาบวม เยื่อตาอักเสบ ตับไตอักเสบ

ข้อแนะนำก็คือ ผู้บริโภคไม่ซื้อเนื้อหมูที่ผิดปกติจากธรรมชาติ หลีกเลี่ยงสารบอแรกซ์ในอาหาร โดยไม่ซื้อหมูบดสำเร็จรูป ควรซื้อเป็นชิ้นแล้วนำมาบดหรือสับเอง ไม่กินอาหารที่มีลักษณะกรอบเด้งหรืออยู่ได้นานผิดปกติ

๒ . สารกันรา หรือสารกันบูด เป็นกรดที่มีอันตรายต่อร่างกายมาก ซึ่งผู้ผลิตอาหารบางรายนำมาใส่เป็นสารกันเสียในอาหารแห้ง เพื่อป้องกันเชื้อราขึ้น อาหารที่มักพบว่ามีสารกันรา ได้แก่ น้ำผักดอง น้ำดองผลไม้ แหนม หมูยอ เป็นต้น

พิษของสารกันรา เมื่อกินเข้าไปจะทำลายเซลล์ในร่างกายตาย หากกินเข้าไปมาก ๆ จะทำลายเยื่อกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ ความดันโลหิตต่ำจนช็อกได้หรือในบางรายที่กินเข้าไปไม่มากแต่แพ้ จะทำให้เป็นผื่นคันขึ้นตามตัว อาเจียน หูอื้อ มีไข้

เราสามารถหลีกเลี่ยงพิษจากสารกันราได้โดยเลือกกินอาหารที่สดใหม่ ไม่กินอาหารหมักดองหรือเลือกซื้อแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ ซึ่งได้รับการรับรองคุณภาพมีเครื่องหมาย อย .

๓ . สารฟอกขาว หรือผงซักมุ้ง หรือสารโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ (Sodium Hydrosulfite) เป็นสารเคมีที่ใช้ฟอกแห อวน แต่แม่ค้าบางรายนำมาใช้ฟอกขาวในอาหารเพื่อให้อาหารมีสีขาว ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาหารที่มักพบว่ามีการใช้สารฟอกขาว ได้แก่ ถั่วงอก ขิงฝอย ยอดมะพร้าว กระท้อน หน่อไม้ดอง น้ำตาลมะพร้าว ทุเรียนกวน

อันตรายของสารฟอกขาวคือเมื่อสัมผัสโดยตรงจะทำให้ผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นแดง และถ้ากินเข้าไป จะทำให้เกิดอาการอักเสบในอวัยวะที่สัมผัสอาหาร เช่น ปาก ลำคอ กระเพาะอาหาร เกิดอาการปวดหลัง ปวดศีรษะ อาเจียน แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ความดันโลหิตลดลง และหากกินมากอาจเสียชีวิตได้

การหลีกเลี่ยงสารฟอกขาว คือ การเลือกกินอาหารที่มีสีใกล้เคียงธรรมชาติไม่ขาวจนเกินไป ผู้บริโภคควรใส่ใจในการเลือกอาหารที่มีความสะอาด และมีสีใกล้ธรรมชาติ จะช่วยให้ปลอดภัยจากอันตรายของสารฟอกขาว

๔ . สารฟอร์มาลิน (Formalin) หรือน้ำยาดองศพ เป็นสารอันตรายที่แม่ค้าบางราย นำมาใช้ราดอาหารสด เพื่อให้คงความสดอยู่ได้นาน ไม่บูดเน่าง่าย อาหารที่มักตรวจพบว่ามีสารฟอร์มาลินปนเปื้อนอยู่ เช่น ผักสดต่าง ๆ อาหารทะเลสด และเนื้อสด เป็นต้น

อันตรายของสารฟอร์มาลิน เมื่อกินเข้าไปจะเกิดเป็นพิษเฉียบพลัน ตั้งแต่ปวดท้องอย่างรุนแรงอาเจียน ท้องเสีย หมดสติ และอาจตายได้หากได้รับในปริมาณมาก

๕ . ยาฆ่าแมลง หรือ สารเคมีสำหรับกำจัดแมลง ซึ่งเกษตรกรบางคนใช้ในปริมาณมากเกินไปจนทำให้อาจตกค้างมากับผัก หรือผลไม้สด ปลาแห้ง

อันตรายจากยาฆ่าแมลงเมื่อเรากินเข้าไปมาก ๆ ในครั้งเดียวจะเกิดพิษแบบเฉียบพลัน เช่น ทำให้กล้ามเนื้อสั่น กระสับกระส่าย ชักกระตุก และหมดสติ หายใจขัด และอาจหยุดหายใจได้ แต่พิษที่พบมากที่สุดคือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน เกิดสะสมในร่างกายทำให้เกิดโรคมะเร็งได้

การหลีกเลี่ยงยาฆ่าแมลงที่ปนเปื้อนมากับอาหารคือ เลือกกินผัก ผลไม้ตามฤดูกาล หรือผักพื้นบ้าน เลือกผักที่มีรูพรุนจากการเจาะของแมลงบ้าง กินผักใบมากกว่าผักหัว เพราะผักหัวจะสะสมสารพิษไว้มากกว่า ล้างและปอกเปลือก ( ในชนิดที่ทำได้ ) ก่อนนำมาบริโภค และเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ผักอนามัย ผักกางมุ้ง เป็นต้น

๖ . สารเร่งเนื้อแดง ( ซาลบูตามอล ) ในท้องตลาดผู้บริโภคเคยเห็นหมูเนื้อแดงซึ่งมีแต่เนื้อล้วน ๆ ไม่มีมันเลยซึ่งมาจากความต้องการของผู้บริโภค ที่ต้องการเนื้อแดงล้วน ๆ ไม่มีมันเลย ผู้เลี้ยงจึงให้หมูกินสารเคมี คือ ซาลบูตามอล

ซาลบูตามอล เป็นยาสำคัญทีใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด ช่วยในการขยายหลอดลด และมีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการเต้นของหัวใจเมื่อมีการนำสารซาลบูตามอลไปใช้เร่งเนื้อแดงในหมู โดยให้หนูกินสารนี้ เมื่อตกค้างมาถึงผู้บริโภค อาจมีผลข้างเคียงทำให้มีอาการมือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กระวนกระวาย วิงเวียนศีรษะ บางรายมีอาการเป็นลม คลื่นไส้อาเจียน เป็นอันตรายมากสำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยเบาหวาน หญิงมีครรภ์

ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงไม่กินเนื้อหมูที่มีสารดังกล่าว โดยเลือกหมูที่มีชิ้นหนาและเลือกหมูที่อยู่ในลักษณะสีไม่แดงมาก

จากนี้ไปเวลาจะเลือกซื้อหรือรับประทานอะไร คงต้องพิจารณาและสังเกตกันให้มากขึ้นเพราะจากข้อมูลข้างต้นทำให้เราได้รู้ว่า ที่ผ่านมานั้น เราไม่ได้เฉลียวใจว่าจะมีสิ่งเหล่านี้แปลกปลอมมากับอาหารที่เรารับประทานอยู่เป็นประจำ และโทษของมันก็ไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว ฉะนั้นเพื่อรักษาสุขภาพและยืดอายุของตัวเราเองให้ได้มากที่สุด ควรเลือกและระมัดระวังให้มากขึ้น และถ้าจะให้ดีก็น่าจะบอกต่อกับคนที่รักเรา และบุคคลที่ใกล้ชิดของเราด้วย

รายการบล็อกของฉัน

chat love manman

chat love manman1

chat love manman 2

chat love manman 3

chat love manman 4

chat love manman 5

chat love manman6