สำหรับคนในประเทศไทยที่นับว่ารักเครื่องเทศมากๆ ในระดับหนึ่ง เชื่อว่าคงมีหลายๆ คนที่รู้จักเครื่องเทศอย่างหญ้าฝรั่นกันเป็นอย่างดี เพราะไม่เพียงแต่มันจะใช้เป็นยาและอาหารได้เท่านั้น แต่ตั้งแต่ในอดีตหญ้าฝรั่นก็เคยมีการนำไปใช้เป็นทั้งน้ำย้อมและเครื่องย้อม จนทำให้มันกลายเป็นเครื่องเทศที่มีราคาเป็นอย่างมากไป
หญ้าฝรั่นเก็บได้จากดอกหญ้าฝรั่นสมชื่อ โดยจะเป็นการเก็บยอดเกสรเพศเมียสีแดงออกมาจากตัวดอกไม้ออกสีม่วง ซึ่งเชื่อกันว่าถูกใช้ในฐานะเครื่องเทศครั้งแรกๆ ใน อิหร่าน เมโสโปเตเมีย หรือไม่ก็กรีก ก่อนที่จะเผยแพร่ไปทั่วโลกในเวลาต่อมา
หญ้าฝรั่นมีกลิ่นฉุนเฉพาะตัวและมีรสค่อนข้างขม มีสรรพคุณในการขับเหงื่อ บำบัดโรคต่างๆ ลดระดับไขมันและคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด บรรเทาอาการท้องอืด แถมยังช่วยทำให้เจริญอาหาร ดังนั้นมันจึงมักถูกนำไปทำอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน แถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และยุโรปมาอย่างยาวนาน
นอกจากนี้ในอินเดียสมัยโบราณหญ้าฝรั่นยังมักจะนำมาย้อมจีวรโดยเหล่าสงฆ์อีกด้วย ทำให้เรียกได้ว่าหญ้าฝรั่นนั้น เป็นเครื่องเทศที่ตลาดค้าขายต้องการอยู่เสมอๆ เลยก็ไม่ผิดนัก
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ในแคชเมียร์ประเทศอินเดีย หญ้าฝรั่นจะนับเป็นเครื่องเทศที่แพงที่สุด โดยมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ราวๆ กิโลกรัมล่ะ 106,000 บาท เนื่องจากกระบวนการเก็บที่ต้องทำด้วยมือ และเมื่อเก็บแล้วดอกไม้อาจมีปัญหาเกี่ยวกับการขยายพันธุ์ด้วย
ที่สำคัญคือในช่วงหลายปีที่ผ่านมาปริมาณการผลิตหญ้าฝรั่นในแคชเมียร์ยังถือว่าลดลงอย่างน่าใจหายเลยด้วย เพราะจากที่ชาวไร่เคยเก็บหญ้าฝรั่นได้ถึงครั้งละ 400 กิโลกรัมในช่วงปี 2000 ในช่วงปี 2016-2018 ที่ผ่านมา พวกเขากลับสามารถเก็บหญ้าฝรั่นได้เพียง 15 กิโลกรัมเท่านั้น
เป็นไปได้ว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นจากการที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ที่อินเดียแทบไม่มีฝนตกเลยก็เป็นได้ และหากปล่อยไว้แบบนี้ หญ้าฝรั่นจากแคชเมียร์ซึ่งนับว่ามีคุณภาพดีที่สุดในโลกก็อาจจะหายไปเลยก็เป็นได้
แต่แม้ว่าหญ้าฝรั่นจากแคชเมียร์อาจจะหายไปก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วหญ้าฝรั่นราวๆ 85% บนโลกนั้นถูกส่งออกมาจากอิหร่านต่างหาก และจากรายงานของทาง UN หญ้าฝรั่นเหล่านี้ก็ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เหมือนกับที่อินเดียด้วย