ค้นหา

ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

Wikipedia

ผลการค้นหา

วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2562

กระดูกกบ ขาเปีย สมุนไพรชื่อแปลก


“กระดูกกบ”ไม่เกี่ยวกับกบ “ขาเปีย”สมุนไพรชื่อแปลกมีที่เดียวที่ประเทศไทย!

กระดูกกบ
คือชื่อพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าทำไมจึงได้ชื่อว่า กระดูกกบ
ได้แต่สันนิษฐานคาดเดาว่าน่าจะมาจากลักษณะของกิ่งมีสีออกขาวๆ และเปราะคล้ายกระดูกของกบนั่นเอง


กระดูกกบ ภาพจากบัญชีภาพถ่าย กรมป่าไม้
กระดูกกบ พบได้ตามป่าทั่วไป มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hymenopyramis brachiata Wall. Ex Griff. มีชื่อท้องถิ่นต่างๆ เช่น กงกาง (พิษณุโลก,เชียงราย) กงกางเครือ (ภาคกลาง, นครราชสีมา) กงเกง ขงเข็ง ขาเปีย จะก๊า จ๊าเปื๋อย ตีนตั่งลม (ภาคเหนือ) กระดูกกบ กระดูกแตก กระพัดแม่ม่าย (ภาคกลาง) โกงกาง (สระบุรี) ควายแก่ร้องไห้ เปือยเครือ (นครราชสีมา) คอแร้ว (ประจวบคีรีขันธ์) เครือขาเปีย (แพร่)

กระดูกกบเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย โคนต้นมีหนามแข็ง กิ่งและช่อดอกตั้งฉากกับลำต้น กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยวรูปรีถึงรูปไข่ ปลายเรียวแหลม ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกเล็กสีขาว กลีบเลี้ยง 4 กลีบ กลีบดอก 4 กลีบ ขนาดเล็กมาก โคนติดกันเป็นรูปถ้วยขนาดเล็ก ผลค่อนข้างกลม ผิวแข็ง มีกลีบเลี้ยงที่ขยายใหญ่เชื่อมติดกันเป็นถุงสี่เหลี่ยมหุ้มอยู่

พบการกระจายพันธุ์ในอินเดีย ศรีลังกา พม่า และภูมิภาคอินโดจีน ในประเทศไทยพบในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้

ในแง่ของการใช้เป็นยา สืบค้นในยาพื้นบ้านอีสานมีการใช้ประโยชน์ไม่กว้างขวางนัก คือใช้เปลือกต้นหรือแก่น นำมาต้มน้ำดื่ม แก้โรคไตพิการ

แต่มีพืชอีกชนิดหนึ่งอยู่ในสกุลเดียวกับกระดูกกบ และมีลักษณะคล้ายกันด้วย ชื่อว่า “ขาเปีย” ชื่อแปลกๆ นี้เพราะว่ามีรายงานถึงพืชชนิดนี้พบเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น และอาจเป็นไปได้ว่าพบเฉพาะในภาคอีสานเท่านั้นด้วย จึงเรียกชื่อเป็นการเฉพาะว่า ขาเปีย

พืชชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hymenopyramis parvifolia Moldenke ลักษณะต้นเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยเหมือนกัน ลักษณะต้นก็คล้ายๆ กัน โคนต้นมีหนามแข็ง ใบเดี่ยวบาง ช่อดอกออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกเล็ก สีขาว ผลค่อนข้างกลม ผิวแข็ง มีกลีบเลี้ยงที่ขยายให้เชื่อมติดกันเป็นถุงสี่เหลี่ยมสีเขียวขาว มีสีชมพูแซมที่โคนหุ้มอยู่

ขาเปียเป็นชื่อเรียกของคนอีสาน แต่ในบางพื้นที่เมื่อคนเห็นลักษณะผลที่ถูกห่อหุ้มด้วยถุงใส ซึ่งแท้จริงคือกลีบเลี้ยงที่ขยายหุ้มเป็นกลีบบางและใส จึงเรียกว่าต้น โป่งลมหรือป่องลม เพื่อสื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจน

ขาเปียพบได้ตามป่าผลัดใบทั่วไปในภาคอีสาน และสูตรเด็ดตามความเชื่อมีสูตรยาโบราณพื้นบ้านอีสานกล่าวว่าใช้เป็นยาบำรุงกำหนัด เลื่องลือกันว่ากินแล้วมีกำลังวังชาขณะปฏิบัติกิจกรรมของชายหญิง

ขนาดและวิธีใช้ คือ ก่อนนำมาใช้ ให้ซื้อเหล้า 1 เท ( โบราณก็คือประมาณ 1 ไห เทียบกับปัจจุบันประมาณเหล้าขาว 32 ขวด) มาตั้งทิ้งไว้ที่บ้านก่อนกินยา ถือเป็นการบูชาครู ขาเปียเป็นยาชูกำลัง โบราณว่าเมื่อจะกินต้องวัดขนาดของกิ่งหรือลำต้นที่มีขนาดเท่าแขนตนเอง (ย้ำว่าเท่าแขนตนเองนะไม่ใช่ส่วนอื่นใดของร่างกาย และเข้าใจว่าหากิ่งหรือลำต้นใหญ่พอควรเท่ากับว่าเป็นต้นยาที่มีอายุมากแล้วนำมาใช้ได้)

เมื่อตัดส่วนกิ่งหรือลำต้นแล้ว ให้ผู้ที่จะกินวัดกิ่งยาวให้ได้ 1 คืบของผู้กินเอง แล้วผ่ากิ่งออก 4 ส่วนให้ได้เนื้อไม้ 4 ชิ้น นำไปย่างไฟจะทำให้เนื้อไม้หอม แล้วนำไปต้มดื่มกินต่างน้ำ

ตำราให้แต่สามีกิน ภรรยาห้ามกิน

นอกจากนี้ ยังพบว่าหมอพื้นบ้านมีการใช้ขาเปียเป็นยาในอีกหลายตำรับ เช่น
ยาแก้ผิดกรรมหรืออยู่ไฟไม่ได้ ตำรับของพ่อสมจิตร คำครุฑ ที่อยู่ 35 หมู่ที่ 6 บ.ห้วยไผ่ใต้ ต.หนองหิน อ.หนองหิน จ.เลย ตำรับยาประกอบด้วย ไม้ขาเปีย (Hymenopyramis parvifolia Moldenke) 1 ส่วน เครือไม้โหบเหบ (ยังจำแนกพืชไม่ได้) 1 ส่วน รากถั่วแฮ (ถั่วแระ Cajanus cajan (Linn.) Millsp.) 1 ส่วน รากต้นชมชื่น (เขยตาย Glycosmis pentaphylla (Retz.) DC.) 1 ส่วน ทุกอย่างเท่ากัน ยกเว้นรากชมชื่นให้ลดขนาดลงครึ่งหนึ่ง ต้มดื่มแทนน้ำร้อน แก้อืด จุก เสียด สำหรับหญิงหลังคลอด

ตำรับรักษาอาการจุกเสียด ตำรับของ นายสำรวย แดงอาจ บ้านเลขที่ 15 หมู่ 4 บ้านคำบอน อ.เจริญศิลป์ จ.สกลนคร ตำรับประกอบด้วย ตีนตั่งเตี้ย (นมแมวป่า Uvariacherrevensis (Pierre ex Finet&Gagnep.) L.L.Zhou, Y. C. F. Su & R. M. K. Saunders) 1 ส่วน ขาเปีย (Hymenopyramis parvifolia Moldenke) 1 ส่วน ตาไก้ (กำแพงเจ็ดชั้น Salacia chinensis L.) 1 ส่วน ยอส้ม (เข็มป่า Pavetta indica L.) 1 ส่วน ใช้เท่ากัน ต้มกิน

ยารักษาริดสีดวง ตำรับของ นายกองมี นอกสระ บ้านเลขที่ 16 หมู่ 6 ต.โนนกอก อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ ยาประกอบด้วย ต้นก้านของ (ต้นปีป Millingtonia hortensis L.f ) 1 ส่วน ต้นขาเปีย (Hymenopyrami sparvifolia Moldenke) 1 ส่วน ต้นสลักดำ (Diospyros vera (Lour.) A. Chev.) 1 ส่วน ต้นผายใหญ่ (เท้ายายม่อมหลวง Melochia umbellate (Houtt.) Stapf) 1 ส่วน ต้นไผ่ (ไผ่หยอง Pogonatherum crinitum (Thunb.) Kunth) 1 ส่วน นำมาต้มดื่ม 3 เวลา

ข้อห้าม งดกินปลาไหล กุ้งดิบ ปลาซิวดิบ
แปลกดีไหม?
กระดูกกบและขาเปียเป็นไม้หรือพืชสมุนไพรที่มีการใช้จริงในชุมชน
แต่เป็นสมุนไพรที่มีคนรู้จักกันค่อนข้างน้อย
พืชทั้ง 2 ชนิดสามารถปลูกร่วมกับไม้อื่นๆ ในป่าชุมชนจึงต้องมาเร่งกันส่งเสริมให้ปลูกและการใช้ประโยชน์
เพื่อรักษาพันธุกรรมสมุนไพรทั้ง 2 ชนิดให้คงอยู่ในระบบนิเวศของประเทศต่อไป

รายการบล็อกของฉัน

chat love manman

chat love manman1

chat love manman 2

chat love manman 3

chat love manman 4

chat love manman 5

chat love manman6